ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 14 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

09 May 2011

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 14 [The 14th ASEAN+3 Finance Ministers’ Meeting (AFMM+3)] เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งมีนาย Agus D.W. Martowardojo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย และนาย Yoshihiko Noda รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ที่ประชุมได้รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาค แนวโน้มและความเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อภูมิภาค ที่นำเสนอโดยนาย Haruhiko Kuroda ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) โดย ADB ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 ได้ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน+3 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 ในปี 2554 และร้อยละ 5.4 ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ความกดดันภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และความผันผวนของการไหลเข้าของเงินทุนสู่ภูมิภาค สำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและต่อห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคในระยะสั้น อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี 2554

2. ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM) ซึ่งความตกลง CMIM ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2553 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของ CMIM ซึ่งได้กำหนดรายละเอียดและขั้นตอนที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามความตกลง CMIM เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่สมาชิกประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความสำเร็จในการจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO) ที่ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2554 เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์และติดตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและของภูมิภาค โดยมีนาย Wei Benhua จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ (Director) ของ AMRO คนแรก และที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสเร่งดำเนินการยกระดับ AMRO ให้เป็นองค์กรระหว่างประเทศโดยเร็ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความน่าเชื่อถือของ AMRO

3. ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการพัฒนาเครือข่ายระวังภัยทางการเงินของภูมิภาคในการป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Crisis Prevention) โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสทำการศึกษารูปแบบของกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกันเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้น

4. ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative : ABMI) โดยเฉพาะความคืบหน้าในการจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility : CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งเป็นกองทุนค้ำประกันพันธบัตรให้แก่ภาคเอกชน เพื่อช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสามารถระดมทุนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่า CGIF จะสามารถเริ่มดำเนินงานได้ภายในกลางปี 2554 รวมทั้ง ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของ ASEAN+3 Bond Market Forum (ABMF) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติของการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนให้มีมาตรฐานเดียวกันด้วย

5. เนื่องจากในปัจจุบันความร่วมมือทางการเงินภายใต้มาตรการริเริ่มต่างๆ ของอาเซียน+3 มีความคืบหน้าอย่างมากและได้มีผลสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบให้มีการขยายขอบข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคในอนาคต (Future Priorities of ASEAN+3 Financial Cooperation) โดยให้ศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมือใหม่ 3 ด้าน ได้แก่ (1) ความร่วมมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค (2) การใช้เงินสกุลของภูมิภาค (Regional Currencies) สำหรับการค้าขายและการลงทุนในภูมิภาค และ (3) การจัดตั้งกลไก/กองทุนการประกันภัยที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Disaster Insurance Scheme)

6. การประชุม AFMM+3 ครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2555 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีกัมพูชาและสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประธานร่วม

อนึ่ง ก่อนหน้าการประชุม AFMM+3 ครั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting : AFDM+3) ซึ่งมี Dr. Bambang Brodjonegoro ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังของอินโดนีเซีย และนาย Rintaro Tamaki ปลัดกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 และได้รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้ง AMRO พร้อมทั้ง ได้มอบหมายนโยบายการดำเนินงานและได้เห็นชอบแผนการดำเนินงานในปี 2554 ของ AMRO

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3314 โทรสาร. (02) 273-9110