นักลงทุนภาคอีสานเกือบ 1,000 ราย ร่วมสัมมนายุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอ รัฐมนตรีฯ ประเสริฐ ชูอีสานเป็นฐานผลิตสำคัญของไทย – เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

11 Feb 2013

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--บีโอไอ

บีโอไอจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากนักลงทุนไทยและต่างชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรื่องยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยมีนักลงทุนไทยและต่างชาติเข้าร่วมงานเกือบ 1,000 คน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมชูภาคอีสานเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่อการค้าและการลงทุน และจะกลายเป็นฐานการผลิตหลักของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตร มั่นใจยุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตรแดนอีสาน ด้านเลขาธิการบีโอไอย้ำ พร้อมรับฟังทุกข้อเสนอที่มีต่อร่างยุทธศาสตร์ใหม่

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่: เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย โดยเป็นทั้งศูนย์กลางการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นฐานการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทนที่สำคัญ รวมทั้งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ

ดังนั้น การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ จำเป็นจะต้องรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีฐานการผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย เพื่อที่ บีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรม จะได้จัดทำแนวทางในการส่งเสริมการลงทุนที่จะช่วยต่อยอดการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรด้านการเกษตร ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญที่สุดของประเทศ

“ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีถึง 10 จังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ภาคอีสานจึงเปรียบเสมือนประตูการค้าการลงทุนสู่อินโดจีน และรัฐบาลก็มีแผนดำเนินโครงการสำคัญเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของภาคอีสาน เช่น รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมก็จะมียุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนการลงทุนในภาคอีสานด้วยเช่นกัน” นายประเสริฐกล่าว

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2551-2555 ที่ผ่านมา มีโครงการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 865 โครงการ เงินลงทุนรวมประมาณ 335,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมหลักที่ลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ อุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะกิจการปศุสัตว์ กิจการอาหารแปรรูป และกิจการผลิตยางขั้นต้น รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค โดยเฉพาะกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุน ที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และบุรีรัมย์

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ แม้จะมีผลการศึกษาให้เลิกส่งเสริมการลงทุนในกิจการบางประเภท แต่บีโอไอก็จะรับฟังความเห็นและข้อเสนอของนักลงทุนทั่วประเทศด้วย สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามนโยบายใหม่นั้น จะเน้นการจูงใจหรือกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา การรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และลงทุนในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรม โดยหากผู้ลงทุนมีการลงทุนเพิ่มเติมในกิจกรรมเหล่านี้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม ซึ่งจะทำให้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสิทธิประโยชน์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การปรับนโยบายครั้งนี้จึงมิได้เป็นการลดสิทธิประโยชน์ แต่เป็นการปรับทิศทางการส่งเสริมให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก และการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้มากยิ่งขึ้น

“ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก บีโอไอจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับทิศทางยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และแผนพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอมีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ส่งเสริมเกือบทุกกิจการมาเป็นส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน เน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน 3.กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 4.กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและบริการด้านสิ่งแวดล้อม 5.กลุ่มธุรกิจบริการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม 6.กลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐานขั้น 7. อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร 8. อุตสาหกรรม Hospitality & Wellness 9.อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์10. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า -กภ-