วท.มั่นใจไทยมีศักยภาพผลิตหุ่นยนต์แพทย์ผลักไทยพ้นประเทศรายได้ปานกลาง

03 May 2013

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์

นายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กล่าวว่า สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง อีกทั้ง เป็นการขับเคลื่อนค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 1 ของGDP ดังนั้น TCELS ในฐานะได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดทำเป้าหมายการผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์ว่าภายใน 7 ปี ประเทศไทยจะสามารถผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ ลดการนำเข้า ส่งเสริมการส่งออกหุ่นยนต์ฯที่ผ่านมาตรฐานและเงื่อนไขที่รับรองความปลอดภัย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์

นายนเรศ กล่าวว่า จากแนวโน้มและความจำเป็นของการใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ในการรักษาพยาบาล ครอบคลุมถึงการผ่าตัด ฟื้นฟูผู้ป่วย ดูแลผู้สูงอายุ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ฯลฯ มีเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน หลายโรงพยาบาลได้นำเข้าหุ่นยนต์เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยในลักษณะต่าง ๆ แต่ราคาที่นำเข้าค่อนข้างสูง ซึ่งหากเราสามารถผลิตได้เอง ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าจะลดลง อาจเหลือเพียงการนำเข้าอุปกรณ์บางชนิด เนื่องจากเราสามารถผลิตได้เองเทียบเท่ามาตรฐาสากล ขณะเดียวกัน เราก็สามารถส่งออก เพื่อนำรายได้เข้าประเทศได้เช่นเดียวกัน

ผอ.TCELS กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีงานวิจัยพื้นฐานมากมาย แต่ไม่มีการเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรม ดังนั้นในเฟสสองของการดำเนินโครงการ TCELS ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อสร้างอาคารหน่วยปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์ชั้นสูง โดยใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี ข้างหน้า โดยหน่วยฯดังกล่าว เป็นเสมือนจุดเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนางานวิจัยพื้นฐานไปสู่ความถูกต้องและได้มาตรฐานนำไปสู่อุตสาหกรรมต่อไป

ติดต่อ:

www.tcels.or.th, www.facebook.com/tcelsfan, 02-6445499

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net