ด้านนายไพศาล ลิ้มสถิต ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า รูปแบบการเล่นพนันในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 เป็นกฎหมายที่ล้าสมัย ที่ผ่านมาคนที่เล่นพนันส่วนใหญ่ไม่เคยถูกจับกุมและดำเนินคดี มีเพียง 9-10% เท่านั้นที่ถูกจับกุมดำเนินคดี โดยกฎหมายระบุบทลงโทษผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 4 ทวิ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งคนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีส่วนใหญ่ถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท ถือว่าโทษเบามาก
“ข้อเสนอคือยกเลิก พ.ร.บ. พนันฉบับเดิม แล้วออกกฎหมายฉบับใหม่ เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนแจ้งเบาะแสเว็บไซต์พนันผิดกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยต้องประสานกับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลการปิดเว็บไซต์พนัน โดยทำเป็นสถิติไว้เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อดูว่าเว็บไซต์จะโผล่กลับมาอีกหรือไม่ รวมถึงมีมาตรการเรื่องการอายัดการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการพนัน” นายไพศาลระบุ
นักวิชาการแนะ กสทช. ร่วมกับองค์กรวิชาชีพแก้ปัญหา
ในมิติเรื่องบทบาทของสื่อ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (Media Monitor) เปิดเผยว่า จากการศึกษาปัญหาเรื่องพนันบอลนับตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 พบว่าสื่อมีบทบาทอย่างมากต่อการตัดสินใจเล่นหรือไม่เล่นพนันบอล โดยพบว่าหลายสื่อมีการนำเสนอเนื้อหาทั้งในระดับที่นำไปใช้ในการพนันได้ทันทีโดยไม่ต้องตีความ เช่นการบอกอัตราต่อรอง การฟันธงทีมแพ้ทีมชนะ รวมไปถึงการชี้ช่องทางหรือแม้กระทั่งรับแทงพนันโดยตรง ซึ่งหากพบการกระทำที่ล้ำเส้น องค์กรวิชาชีพก็ต้องตักเตือน
“บางครั้งผู้ดำเนินรายการสายกีฬาก็มีแล่บหลุดไปบ้าง ด้วยความที่มีข้อมูลเยอะ บวกกับเป็นความสนใจส่วนตัว พอวิเคราะห์เกมการแข่งขัน ก็อาจมีการบอกอัตราต่อรองหรือทายผลแพ้ชนะ โดยเฉพาะรายการที่ไม่มีสคริปต์ ดังนั้นจึงต้องมีความระมัดระวัง และรู้จักแยกแยะบทบาทหน้าที่กับความสนใจส่วนตัว ไม่ล้ำเส้นเป็นการพนัน” ผศ.ดร.เอื้อจิต ยกตัวอย่าง
เช่นเดียวกันกับ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ สถาบันการสื่อสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่มองว่า แนวปฏิบัติของสื่อมวลชนคือต้องระวังไม่นำเสนอเนื้อหาที่ชี้นำหรือชักจูงไปสู่การพนัน เช่น ไม่พูดถึงแต้มต่อรอง ไม่ชี้ช่องการเล่นพนันทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง
พร้อมกันนั้น นายธาม มีข้อเสนอถึง กสทช. ว่า ควรส่งเสริมมาตรการควบคุมและกำกับดูแลกันเองของสื่อ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ต้องสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพตามประเภท แล้วให้องค์กรวิชาชีพเหล่านั้นจัดทำข้อบังคับจริยธรรมหรือแนวปฏิบัติจรรยาบรรณวิชาชีพ แล้วทำหน้าที่กำกับดูแลจริยธรรมกันเอง เมื่อเกิดกรณีผู้ประกอบการกระทำความผิด ก็ให้มีการตักเตือนและลงโทษกันเอง โดยกำหนดความรุนแรงของโทษเป็นลำดับชั้น แต่หากมีการกระทำผิดซ้ำๆ ก็ให้แจ้งมาที่ กสทช. ซึ่งอาจลงโทษถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต