รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557 “เศรษฐกิจไทยปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 โดยมีแรงส่งในช่วงครึ่งปีหลังตามสถานการณ์ทางการเมืองที่มีทิศทางชัดเจนขึ้น”

03 Aug 2014
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนกรกฎาคม 2557 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.5 – 2.5) ปรับลดลงจากการคาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2557 ที่ร้อยละ 2.6 โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาทางการเมืองซึ่งทำให้อัตราการเจริญเติบโตในไตรมาสแรกของปีหดตัวมากกว่าคาดที่ร้อยละ -0.6 และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อได้ส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่า ทิศทางที่ชัดเจนขึ้นของสถานการณ์ทางการเมืองจะส่งสัญญาณที่ดีต่อระดับ ความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนตามนโยบายเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและการดำเนินมาตรการที่ให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ทั้งนี้ ความชัดเจนในเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐรวมทั้งการเร่งรัดการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐที่แต่เดิมมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด รวมถึงการเร่งกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 ถึง 2.5) โดยแม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในครึ่งปีแรกจะลดลงต่ำกว่าที่คาด แต่ในครึ่งปีหลัง คาดว่าจะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ การส่งออกภาคบริการในส่วนของการท่องเที่ยวคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก สำหรับการนำเข้าในปี 2557 นั้น คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -5.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ (-6.2) ถึง (-4.2)) แม้จะมีการเร่งตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามการเร่งขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้จ่ายภาครัฐ

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยนั้น ในส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 จะปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 – 2.9) ตามแนวโน้มการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ประสบปัญหาภัยแล้งและสินค้าที่ขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป และบริการต่างๆ ได้เริ่มทยอยปรับขึ้นราคา เช่น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป อย่างไรก็ดี นโยบายการตรึงราคาก๊าซ LPG และน้ำมันดีเซลตลอดจนมาตรการตรึงราคาสินค้าจะช่วยชะลออัตราเร่งของเงินเฟ้อ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศนั้น คาดว่า ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการนำเข้าสินค้า ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 13.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น ร้อยละ 3.3 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 -3.5 ของ GDP)”

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ แนวโน้มอุปทานน้ำมันโลกที่เผชิญปัญหาขัดแย้งในประเทศอิรักและยูเครน ทั้งนี้ มองว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 2 ต่อปี หากภาครัฐมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และเตรียมความพร้อมในการใช้งบประมาณปี 2558 ในลักษณะเร่งรัดในช่วงแรกของปีงบประมาณ รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกสินค้าให้เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ และมีการกระตุ้น การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น”