มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชน ต่อเทศกาลลอยกระทง 2557
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อเทศกาลวันลอยกระทง กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 601 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2557 พบว่า
แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 ระบุตั้งใจจะไปร่วมฉลองเทศกาลวันลอยกระทง ในขณะที่ร้อยละ 15.6 ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 2.5 ไม่ไป
ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ เมื่อสอบถามความรู้สึกกังวลใจในคืนวันลอยกระทงของแกนนำชุมชน พบว่า ความกังวลใจอันดับที่ 1 คือ เรื่องการทะเลาะวิวาท/ยกพวกตีกัน (ร้อยละ 49.1) อันดับที่ 2 คือ อุบัติเหตุตามท้องถนน (ร้อยละ 40.3) อันดับที่ 3 คือ การมั่วสุมมอมเมาของเยาวชน (ร้อยละ 31.4) อันดับที่ 4 คือ เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 27.3) อันดับที่ 5 คือ การก่อการร้าย (ร้อยละ 26.3) รองๆ ลงไป คือ การแพร่ระบาดของยาเสพติด การลวนลามทางเพศ อุบัติเหตุจากการละเล่น ปัญหาจราจรติดขัด การลักขโมยตามบ้าน อาชญากรรมตามถนน (ปล้นจี้ ทำร้ายร่างกาย) การสิ้นเปลืองงบประมาณ และการละเล่น/การแสดงที่ทำลายภาพพจน์ของประเทศ ตามลำดับ อย่างไรก็ตามแกนนำชุมชนร้อยละ 20.0 ไม่รู้สึกกังวลอะไรเลยกับคืนวันลอยกระทง
ตัวอย่างแกนนำชุมชนกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 77.9 มีความมั่นใจต่อความปลอดภัยในคืนวันลอยกระทง ในขณะที่ร้อยละ 17.9 ไม่มั่นใจ และร้อยละ 4.2 ไม่มีความคิดเห็น
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการมีมาตรการต่างๆ ในคืนวันลอยกระทง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 98.7 เห็นด้วยกับการให้ตำรวจเข้ามาดูแลตรวจตราอย่างเข้มงวด รองลงมาคือ ร้อยละ 97.8 เห็นด้วยกับการห้ามเล่นประทัด/ดอกไม้ไฟในบริเวณที่มีฝูงชน ร้อยละ 97.7 เห็นด้วยกับการรณรงค์ให้มีการจัดงานวันลอยกระทงตามแบบแผนทางวัฒนธรรมที่แท้จริง ร้อยละ 97.5 เห็นด้วยกับการควบคุมสถานบันเทิงให้จัดงานอยู่ในขอบเขตที่ดีงาม ร้อยละ 95.3 เห็นด้วยกับการอนุญาตให้มีการจัดงานเฉพาะในสถานที่ที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน ร้อยละ 95.2 เห็นด้วยกับการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัดที่จัดงาน และร้อยละ 92.5 เห็นด้วยกับการห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเที่ยวงานตามลำพังเกินสี่ทุ่ม
และเมื่อสอบถามแกนนำชุมชนถึงความมั่นใจว่าการฉลองวันลอยกระทงในปีนี้จะอยู่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมอันดีงาม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.0 มั่นใจว่าการฉลองวันลอยกระทงปีนี้จะอยู่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมอันดีงาม ในขณะที่ร้อยละ 20.0 ไม่มั่นใจ และร้อยละ 6.0 ไม่มีความคิดเห็น
นอกจากนี้แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.0 รู้สึกกังวลว่าเยาวชนจะใช้โอกาสคืนวันลอยกระทงมีเพศสัมพันธ์กัน
สิ่งที่แกนนำชุมชนอยากเห็นต่อไปหลังคืนวันลอยกระทง พบว่า ร้อยละ 76.0 ต้องการเห็นการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมของทุกฝ่าย เช่น ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ แกนนำชุมชน และประชาชนทั่วไป รองลงมาคือ อยากเห็นภาพของประชาชนทั่วไปช่วยกันทำความสะอาด แม่น้ำลำคลอง และร้อยละ 63.1 อยากเห็นประชาชนเกิดความสำนึกในประโยชน์ของน้ำ ตามลำดับ
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐกับความสำเร็จในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 1,101 ชุมชน จาก 26 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี กาญจนบุรี ลพบุรี อ่างทอง ปราจีนบุรี ระยอง ตราด นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร เลย หนองคาย เชียงใหม่ พะ