สำรวจทุกซอกมุมเรื่องทางเดินอาหารและตับ เพื่อรู้ลึก รู้เท่าทัน และป้องกันตัวจากทุกโรคภัยในระบบทางเดินอาหาร

04 Sep 2014
ด้วยเหตุปัจจัยจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่มักละเลยการดูแลตนเองในด้านต่าง ๆ ทั้งโภชนาการ การพักผ่อน การออกกำลังกาย รวมถึงกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องประสบกับภาวะความเครียดเป็นประจำ ทำให้มีแนวโน้มของผู้ป่วยในโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและตับสูงขึ้น ทั้งรายละเอียดของโรคยังมีความซับซ้อนและหลากหลายยิ่งกว่าเดิม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่ความรู้เรื่องการทำงานของระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อให้คนทั่วไปได้มีพื้นฐานในการเฝ้าระวังและเห็นความสำคัญของการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายตนเอง พร้อมแสดงถึงศักยภาพของแพทย์และเทคโนโลยีในการตรวจรักษาในปัจจุบันที่มีความสามารถทัดเทียมกับวงการแพทย์ในระดับสากล ในงาน ‘Digestive Health Fair’ นิทรรศการซึ่งรวบรวมความรู้ผ่าน Interactive Media และการบรรยายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบกับมะเร็งตับ, นิ่วในถุงน้ำดี, มะเร็งลำไส้ และ ท้องเสียเรื้อรัง(IBD)

นพ.รุจาพงศ์ สุขบท หัวหน้าแผนกทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงาน ว่า “การจัดงาน Digestive Health Fair เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างความรู้พื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคในระบบทางเดินอาหารและตับที่พบบ่อยในประเทศไทย ซึ่งจะเน้นอธิบายข้อมูลในเชิงกว้าง เช่นเรื่องปัญหาในการตรวจรักษา หรืออาการหลัก ๆ ที่คนไข้ควรให้ความใส่ใจในการตรวจสอบดูแลตนเองเพื่อพบแพทย์ในเวลาอันเหมาะสม รวมถึงวิธีการป้องกันตัวเองให้พ้นจากโรคในกลุ่มนี้ อีกส่วนหนึ่งคือการแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงวิทยาการทางการแพทย์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ว่าเราสามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาคนไข้ได้หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มอาการ และมีเครื่องมืออุปกรณ์รวมถึงทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จึงสามารถดูผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและตับได้ในระดับเดียวกับประเทศที่มีเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงทั่วโลก”

“เมื่อคนไข้เข้ามาที่ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ แพทย์จะตรวจวินิจฉัยอาการของคนไข้เบื้องต้นด้วยการสอบถามอาการและซักประวัติ จากนั้นเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าสาเหตุของการเจ็บป่วยมีแนวโน้มความผิดปกติจากบริเวณใด ก็จะให้คนไข้เข้ารับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง ด้วยเครื่องมือที่สามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติในอวัยวะใดหนึ่งได้เป็นการเฉพาะ อาทิ Endoscopic Ultrasound (ESU) การส่องกล้องที่มีหัวตรวจคลื่นความถี่สูงเข้าไปภายในระบบทางเดินอาหาร เพื่อวินิจฉัยลักษณะสิ่งผิดปกติ เช่น ถุงน้ำ หรือสิ่งผิดปกติที่อยู่ใต้หรือนอกเยื่อบุของทางเดินอาหารส่วนต้นและส่วนปลาย และอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ตับอ่อน ถุงน้ำดี และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ที่กล้องส่องทางเดินอาหารทั่วไปจะมองไม่เห็น ทั้งยังสามารถเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อขณะส่องกล้องได้ทันทีเพื่อนำมาวินิจฉัยอย่างละเอียดแม่นยำมากขึ้น

“Capsule Endoscopy การส่องกล้องผ่านแคปซูลเพื่อตรวจระบบทางเดินอาหารในลำไส้เล็ก ซึ่งจะใช้กับคนไข้ที่มีข้อบ่งชี้ว่ามีภาวะซีดหรือโลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุหรือสงสัยว่าอาจเกิดจากลำไส้เล็ก ท้องเสียเรื้อรัง ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ และสงสัยว่าอาจมีเนื้องอกในลำไส้เล็ก โดยคนไข้จะกลืนแคปซูลขนาด 24 มม. ที่มีกล้องติดอยู่ จากนั้น แคปซูลจะเดินทางไปตามส่วนต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหาร พร้อมบันทึกภาพราว 51, 000 ภาพ ซึ่งจะถูกถ่ายและแปลงส่งเป็นสัญญาณวิทยุมายังชุดรับสัญญาณที่ติดอยู่บริเวณหน้าท้องของผู้ป่วยในเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง ซึ่งระหว่างนั้นคนไข้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ วิธีนี้ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินภาวะผิดปกติในลำไส้เล็กที่กล้องส่องแบบท่อขนาดเล็ก (Gastroscopy) เข้าไปไม่ถึง ซึ่งจะให้ผลที่แม่นยำ คนไข้ไม่ได้รับความเจ็บปวด และร่างกายจะขับแคปซูลออกไปพร้อมกับการขับถ่ายตามปกติ

“Colonoscopy กล้องส่องลำไส้ใหญ่ลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก เรียว ยาว และยืดหยุ่นได้ มีกล้องวิดีโอและดวงไฟขนาดเล็กติดอยู่ที่ปลายท่อ โดยเมื่อขยับและปรับกล้องส่องลำไส้ใหญ่อย่างเหมาะสมแล้ว แพทย์จะสามารถเคลื่อนไหวกล้องในลำไส้ใหญ่ให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ และภาพที่บันทึกได้จะถูกฉายบนจอโทรทัศน์ด้วยคุณภาพคมชัด และเก็บรายละเอียดภายในลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด“Gastroscopy หรือ Upper GI Endoscopy เทคนิคพิเศษเพื่อตรวจบริเวณทางเดินอาหารส่วน ด้วยอุปกรณ์ที่มีลักษณะยาว เล็ก และโค้งงอได้ มีกล้องวิดีโอขนาดเล็กและหลอดไฟอยู่ที่ส่วนปลาย บันทึกภาพคมชัดในระดับสูงฉายผ่านจอโทรทัศน์ ทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดชัดเจนได้ในหลายแง่มุม ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่าการ X-ray“หรือ Fibro Scan เครื่องวัดความหนาแน่นของตับที่ใช้ตรวจหาภาวะตับแข็งด้วยหลักการสะท้อนของคลื่นเสียง ซึ่งแต่เดิมผู้ป่วยต้องเข้ารับการเจาะตับเพื่อเก็บตัวอย่าง แต่ด้วย Fibro Scan ที่แพทย์จะวางอุปกรณ์ซึ่งทำหน้าที่ปล่อยสัญญาณคลื่นเสียงไว้ที่ชายโครงด้านขวาแล้วปล่อยสัญญาณคลื่นเสียงความถี่ต่ำเข้าไปที่ตับ จากนั้นซอฟต์แวร์จะแปลผลจากความเร็วในการสะท้อนกลับของเสียงออกมาเป็นค่าที่แพทย์นำมาใช้พยากรณ์โรคต่อไปได้ การตรวจโดยวิธีนี้จะใช้เวลาเพียงประมาณ 10 นาทีเท่านั้น จากนั้นแพทย์จะนำผลไปใช้ประกอบการวางแผนรักษาได้ทันที”

นอกจากนี้ ยังมีอาการของโรคบางชนิดในกลุ่มโรคทางเดินอาหารและตับ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ที่ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันและรักษาก่อนที่อาการของโรคจะแสดง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุนำไปสู่ความรุนแรงที่มีอันตรายถึงชีวิตได้

นพ. รุจาพงศ์ อธิบายว่า ไวรัสตับอักเสบบี คือโรคที่นับได้ว่าเป็นปัญหาลำดับต้น ๆ ในกลุ่มโรคทางเดินอาหารและตับของประเทศไทย ซึ่งแบ่งเป็น คนที่มีพาหะของโรค คนที่มีอาการแสดงแล้ว และกลุ่มที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีต่อเนื่องหลายปีจนเกิดภาวะตับแข็ง สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเราต้องรู้ว่ากลุ่มคนไข้เหล่านี้คือผู้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเน้นความสำคัญว่า การตรวจร่างกายตามกำหนดเวลาที่เหมาะสมถือเป็นการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดจากโรคมะเร็งตับ หรือถึงแม้ในผู้ป่วยที่มีเชื้อมะเร็งแล้ว แพทย์ก็ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น ดังนั้นผลการรักษาจึงขึ้นอยู่กับว่าตรวจพบช้าเร็วแค่ไหน เนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีหรือมะเร็งตับในระยะแรกจะไม่มีอาการแสดง ต่อเมื่ออาการเริ่มแสดงแล้วก็มักอยู่ในระยะที่ไม่อาจรักษาได้ หรือรักษาได้ก็ไม่หายขาด

“และเนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การรณรงค์ด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบบีได้ทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมทั้งยังมีวัคซีนป้องกันที่ฉีดให้เด็กตั้งแต่แรกเกิด ทำให้ผู้ที่มีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มเสี่ยงในปัจจุบัน คือกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไป ซึ่งอาจได้รับเชื้อมาจากหลายสาเหตุ แต่โดยมากคือรับผ่านทางกรรมพันธุ์จากแม่ หรือบ้างก็ได้รับผ่านการรับบริจาคเลือดตั้งแต่ในยุคสมัยที่ยังไม่มีการสกรีนไวรัสตับอักเสบบี

“ในส่วนของการรักษา แพทย์จะดูที่ระยะของโรค เช่นในกลุ่มที่เป็นพาหะอย่างเดียวก็อาจยังไม่ต้องทำการรักษา เพียงติดตามอาการ ให้คำแนะนำ นัดเจาะเลือดและทำอัลตราซาวด์ทุก 3-6 เดือน หากมีการอักเสบของตับ ก็มียากินหรือยาฉีดตามแต่กรณีของผู้ป่วยแต่ละคน โดยการให้ยาต่อเนื่องจะสามารถรักษาจนหายเป็นปกติได้ สำหรับกลุ่มที่มีอาการตับแข็งและมีไวรัสบีร่วมด้วยก็ต้องรักษาควบคู่กันไป แต่หากเป็นกลุ่มที่ตรวจพบเซลล์มะเร็ง ก็จะขึ้นกับว่าอยู่ในระยะใดหรือมีขนาดของก้อนมะเร็งโตมากน้อยแค่ไหน การรักษาจะมีตั้งแต่การใช้คีโมไปจนกระทั่งการผ่าตัด จากที่กล่าวมา จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากเน้นย้ำว่าการหมั่นดูแลตนเองและตรวจสุขภาพร่างกายตามวาระ ถือเป็นการดูแลรักษาตัวให้ปลอดภัยจากไวรัสตับอักเสบบีและห่างไกลจากมะเร็งตับ ที่ได้ผลดีที่สุด”