พม. เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกหลอกไปทำงานก่อสร้างที่กัมพูชา ๒๐๐ คน แต่ถูกนายหน้าปล่อยลอยแพไว้ที่บ้านฉาง จังหวัดระยอง

09 Jan 2015
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)ครั้งที่ ๔/๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น ๘ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ

นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC ได้รับแจ้งเบาะแสและขอความช่วยเหลือจากพลเมืองดีที่โทรมาทางสายด่วน ๑๓๐๐ ให้ช่วยเหลือแรงงานไทยจำนวน ๒๐๐ คน ที่ถูกหลอกไปทำงานก่อสร้างที่ประเทศกัมพูชา แต่ถูกนายหน้าปล่อยทิ้งลอยแพไว้ที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคมได้ประสานงานไปยังพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่จังหวัดระยอง (พมจ.ระยอง) พร้อมด้วยหัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดระยอง ผู้ปกครองสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที พบว่ามีแรงงานชายจำนวนทั้งหมด ๒๐๐ คน ซึ่งทั้งหมดเป็นคนไทย ถูกหลอกไปทำงานก่อสร้างที่ประเทศกัมพูชา โดยเสียค่านายหน้าคนละ ๑๐,๕๐๐ – ๒๕,๐๐๐ บาท และเมื่อเดินทางมาถึงอำเภอบ้านฉาง ได้นัดพบกับนายหน้าที่บริเวณหาดพลา ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง จึงพบว่านายหน้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการพาแรงงานเดินทางต่อไปยังประเทศกัมพูชา และปล่อยทิ้งลอยแพไว้ในบริเวณดังกล่าว จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้การช่วยเหลือแรงงานกลุ่มดังกล่าวในเบื้องต้น โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งแรงงานทั้งหมดกลับภูมิลำเนา และจะมีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้เสียหายเพื่อให้การดูแลช่วยเหลือในระยะยาวต่อไป

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีอีก ๒ กรณี ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้ให้การช่วยเหลือคือกรณีชายหนุ่มอายุ ๒๑ ปี ถูกไฟฟ้าช็อตบาดเจ็บสาหัส จนกลายเป็นคนพิการ และนายจ้างไม่มาดูแลให้การช่วยเหลือ อาศัยอยู่กับตาและยายซึ่งครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งกรณีดังกล่าว ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่จังหวัดอุดรธานี (สนง.พมจ.อุดรธานี) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเร่งให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลด้านการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ครอบครัวดังกล่าวให้ดีขึ้นต่อไป และกรณีชายอายุ ๖๕ ปี และหญิงอายุ ๖๑ ปี สองสามีภรรยา มีอาชีพเก็บของเก่าขาย ครอบครัวมีฐานะยากจน อาศัยอยู่อย่างยากลำบากหลังประสบอุบัติเหตุขับรถสามล้อเครื่องชนกับมอเตอร์ไซค์ และยังต้องรับภาระเลี้ยงดูหลานและเหลนอีกจำนวน ๔ คน ที่จังหวัดอ่างทอง ซึ่งตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่จังหวัดอ่างทอง (สนง.พมจ.อ่างทอง) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือดูแลครอบครัวดังกล่าวในด้านต่างๆต่อไป