มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อการปลดใบเหลืองอียู กับ ความวิตกกังวลในการขาดแคลนอาหารทะเล: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ

06 Jul 2015
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อการปลดใบเหลืองอียู กับความวิตกกังวลในการขาดแคลนอาหารทะเล: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,079 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2558

ผลสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 57.7 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 26.5 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 9.7 ระบุติดตาม 1-2 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 4.3 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 1.8 ระบุไม่ได้ติดตามเลย

เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนถึงการรับรู้รับทราบเกี่ยวกับการบังค้บใช้ พรบ.การประมงเพื่อ แก้ไขปัญหาใบเหลืองจากสหภาพยุโรปเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดออกเรือหาปลานั้นพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 83.5 ระบุทราบข่าวมาก่อน ในขณะที่ร้อยละ 16.5 ระบุยังไม่ทราบข่าว/เพิ่งทราบ ทั้งนี้แกนนำชุมชนประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 73.7 ทราบมาก่อนแล้วว่ารัฐบาลได้มีการผ่อนปรนให้เวลาเรือประมงได้ปรับปรุงเรือของตนให้ถูกกฎหมาย ในขณะที่ร้อยละ 26.3 ระบุยังไม่ทราบ/เพิ่งจะทราบ

ทั้งนี้ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนถึงการมีผลดีผลเสียจากการดำเนินการปราบปรามจับกุมเรือประมงที่มีเครื่องมือประมงผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด จนทำให้เรือประมงบางส่วนหยุดการออกเรือหาปลา นั้นผลสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละเก้าสิบ (ร้อยละ 91.2) เห็นว่ามีผลดีมากกว่า โดยระบุว่ามีผลดีคือ จะได้ปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปได้ /ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติจะปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหลายปัญหาในคราวเดียวกัน ทั้งการทำประมงเถื่อน การค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อน และการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนร้อยละ 8.8 ระบุเห็นว่ามีผลเสียมากกว่า เนื่องจากการทำให้อาหารทะเลมีราคาแพงขึ้น หรือเกิดการขาดแคลนอาหารทะเล การขาดรายได้ของชาวประมง และการนำไปสู่ความขัดแย้งได้ในที่สุด

สำหรับความวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาของอาหารทะเลที่อาจมีราคาแพงขึ้น รวมถึงอาจจะมีการขาดแคลนอาหารทะเลนั้น ผลสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 61.1 รู้สึกวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38.9 ระบุว่าไม่รู้สึกวิตกกังวลใดๆ โดยให้เหตุผลว่า เห็นว่าเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น อีกไม่นานก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ /มีอาหารทะเลจากแหล่งอื่นทดแทนอยู่แล้ว/เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมราคา และไม่ได้เกิดภาวะขาดแคลนได้/ปกติก็ไม่ได้บริโภคอาหารทะเลอยู่แล้ว/ราคาของอาหารทะเลมีขึ้นลงเป็นปกติอยู่แล้ว/อยู่อย่างพอเพียงมีเท่าไหร่ก็กินเท่านั้น

ประเด็นสำคัญคือเมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีที่มีกลุ่มเรือประมงในบางพื้นที่ที่มีเครื่องมือประมงผิดกฏหมาย ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้มีมาตรการผ่อนปรน เพื่อให้สามารถออกเรือหาปลาได้ตามปกตินั้น พบว่าตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 74.7 ระบุไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และอาจสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงเห็นว่ารัฐบาลได้ให้เวลาในการปรับปรุงมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีการผ่อนปรนต่อไปอีก ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 25.3 ระบุเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นอาชีพหลักของชาวประมงที่ต้องทำมาหากิน/ชาวบ้านอาจเดือดร้อนจากการขาดรายได้/กลัวเกิดภาวะขาดแคลนอาหารทะเล/ขยายเวลาออกไปอีกบ้าง คงไม่ส่งผลกระทบมากนัก/อยากให้รับฟังปัญหาของชาวประมงมากกว่านี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงความต้องการต่อรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่เป็นประเด็นอยู่ในสังคมขณะนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนมากกว่า 2 ใน 3 คือร้อยละ 76.0 ระบุต้องการให้เดินหน้าปราบปรามเรือประมงที่ผิดกฎหมายต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาใบเหลืองสินค้าประมงของไทยจากสหภาพยุโรปให้ได้ ในขณะที่ร้อยละ 24.0 ระบุต้องการให้ผ่อนปรนให้เรือประมงที่ผิดกฎหมายสามารถออกเรือหาปลาได้ตามปกติก่อน เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนอาหารทะเล

ทั้งนี้ผลสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 59.1 ระบุยังคงเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปได้ภายในเวลา 6 เดือนตามที่กำหนด โดยให้เหตุผลที่ยังคงเชื่อมั่นว่า เป็นเพราะ เห็นความพยายามของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหานี้ /รัฐบาลดำเนินการอย่างเป็นระบบมีขั้นตอนชัดเจน/เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาล/นายกรัฐมนตรีมีเหตุผลและเด็ดขาด จะต้องจัดการปัญหานี้ได้ในที่สุด/รัฐบาลพูดจริง ทำจริง แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตามแกนนำชุมชนร้อยละ 12.1 ระบุว่าไม่เชื่อมั่นแล้ว เนื่องจากปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการสะสางมากกว่านี้/คิดว่าเวลาในการแก้ไขปัญหาน้อยเกินไป รัฐบาลต้องทำหลายเรื่อง อาจจะไม่ทัน/ยังไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และร้อยละ 28.8 ระบุยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำได้หรือไม่

ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงผลดี-ผลเสียต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลของข่าวเกี่ยวกับการหยุดเดินเรือออกหาปลาของกลุ่มเรือประมงที่มีเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 50.4 ระบุส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล อย่างไรก็ตามแกนนำชุมชนร้อยละ 40.2 ระบุส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล และพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 9.4 ระบุว่าไม่ได้สนใจติดตามข่าวนี้

คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

แกนนำชุมชนร้อยละ 88.4 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 11.6 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 9.0 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 31.9 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 59.1 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 34.4 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 44.1 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 7.0 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 14.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ

แกนนำชุมร้อยละ 70.8 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 14.5 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 14.7 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ รับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 28.2 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 22.8 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 21.2 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 27.8 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ