เวนคืนไม่เคยทำลายรากเหง้าวัฒนธรรม อย่าอ้างส่งเดช

12 May 2016
พอจะมีการเวนคืนทีไร มักมีข้ออ้างจากพวกเอ็นจีโอบ้าง ผู้อยู่อาศัย (หัวหมอ) บ้างว่าเป็นการทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชุมชน นี่เป็นเรื่องเท็จโดยแท้

เวนคืนคือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

การเวนคืนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะการพัฒนาความเจริญต่างๆ จำเป็นต้องมีการตัดถนน สร้างทางด่วน บ่อบำบัดน้ำเสีย สนามบิน คลองประปา และคลองชลประทาน ฯลฯ โดยรัฐบาลทำการการเวนคืนเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ได้มีใครตั้งใจที่จะเวนคืนไปเพื่อทิ้งไว้โดยไม่ใช่ประโยชน์ หรือตั้งใจรังแกประชาชน แต่เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น สร้างถนนริมแม่น้ำให้รถสัญจรไปมาแบบริมแม่น้ำฮัน กรุงโซล เกาหลีใต้ เป็นต้น แต่แบบไทยที่จะสร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ให้ขี่จักรยานเล่น ไม่สมควรแน่นอน

ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 (พ.ศ.2443 เป็นต้นมา) เป็นต้นมา มีการเวนคืนบ้านเรือน ย่านการค้า โรงงาน โรงนา ฯลฯ มากมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ รัฐบาลก็ได้ออกพระราชบัญญัติการเวนคืนเพื่อปกป้องสิทธิและช่วยเหลือผู้ถูกเวนคืน และได้มีการแก้ไขให้ สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างต่อเนื่อง ดูรายละเอียดได้จากเอกสารของ National Highway Institute <1>บางกรณีต้องจ่ายสูงกว่าราคาตลาด

หลักสำคัญของการเวนคืนก็คือ ทางราชการต้องจ่ายค่าทดแทนไม่ต่ำกว่าราคาตลาด การบังคับเอาที่ดินไปจากประชาชนผู้ครอบครองโดยจ่ายค่าทดแทนต่ำ ถือเป็นการละเมิด (สิทธิมนุษยชน) และสร้างความไม่ เท่าเทียมกันในสังคม อันจะก่อให้เกิดปัญหาตั้งแต่การดื้อแพ่ง การประท้วง ความไม่สงบในบ้านเมือง โครงการที่พึงดำเนินไปหลังจากการเวนคืนก็กลับล่าช้าและเสียหาย

ในบางกรณีทางราชการยังอาจต้องจ่ายค่าทดแทนสูงกว่าราคาตลาดของทรัพย์สิน เพราะความสูญเสียของผู้ถูกเวนคืนมีมูลค่ามากกว่านั้น เช่น ทรัพย์สินเป็นสถานที่ประกอบกิจการเปิดร้านค้าหรือบริษัท เมื่อถูกเวน-คืนก็ต้องเปลี่ยนหัวจดหมายใหม่ หรือเกิดความยุ่งยากในการขนส่งสินค้า หาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ความเสียหายเหล่านี้ควรได้รับการชดเชยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางกรณีที่อย่างไรเสียผู้ถูกเวนคืนก็ไม่ยอมย้ายออกอยู่ดี แม้จะทดแทนให้สมราคาตลาดหรือสูงกว่าเพื่อชดเชยความเสียหายอื่นแล้วก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะความผูกพัน / ปักใจเป็นพิเศษในที่เดิม กรณีการ "ดื้อแพ่ง" จึงถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมส่วนรวม และเข้าทำนอง "กีดขวางความเจริญ" ของชุมชน สังคมและประเทศชาติอีกต่างหาก

ผู้ถูกเวนคืนไม่ใช่ผู้เสียสละ

เราควรเข้าใจว่า การเวนคืนนั้นไม่ใช่การที่ผู้ถูกเวนคืนยอมเสียสละอะไรบางอย่างเพื่อชาติ ต่างจาก "รั้วของชาติ" ที่สละชีพเป็นชาติพลี มีบุญ-คุณต่อประเทศ เพราะตราบเท่าที่ผู้ถูกเวนคืนได้รับค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมแล้ว ประเทศชาติก็ไม่ได้ติดค้างบุญคุณกับบุคคลเหล่านี้เรายังควรให้การศึกษาแก่สังคมเพิ่มเติมด้วยว่า ในฐานะพลเมืองของประเทศ บุคคลไม่พึงกีดขวางความจำเป็นของชุมชน (ปัจเจกบุคคลอื่นทุกคนรวมกัน ยกเว้นผู้ถูกเวนคืน) ชุมชนไม่พึงกีดขวางความจำเป็นของเมือง เมืองไม่พึงกีดขวางความต้องการจำเป็นของชาติ หากได้รับการชดเชยที่เหมาะสม ในประเทศที่เจริญแล้ว เราตัดต้นไม้ในบ้านเราเองก็ยังทำไม่ได้ถ้าการนั้นทำให้ชุมชนเสียระบบนิเวศ หรือถ้าเราอยู่ห้องชุด เราจะเปลี่ยนกุญแจโดยพลการไม่ได้ เพราะหากเกิดเหตุร้ายทางนิติบุคคลจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที <2>

เราไม่ควรสับสนกันระหว่างสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนา ความเชื่อ กับหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม สิทธิส่วนบุคคลถูกจำกัดได้ด้วยหน้าที่ต่อส่วนรวมนั่นเอง แต่เราจะยึดถือหลักการเพื่อส่วนรวมนี้ได้ เราก็ต้องบำบัดและชดเชยความสูญเสียส่วนบุคคลของผู้ถูกเวนคืนอย่างสมควร ซึ่งบางครั้งอาจตีค่าเป็นเงินสูงกว่าราคาตลาดด้วยซ้ำไป

อย่าอ้างรากเหง้าทางวัฒนธรรม

การอ้างรากเหง้างทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เป็นเท็จ ตัวอย่างง่าย ๆ ที่สามารถเห็นได้ก็คือ กรณีศาลเจ้าซำไน่เก็งที่อยู่ติดกับถนนท่าดินแดง ซึ่งเป็นศาลเจ้าจีนที่เป็นที่เคารพอย่างสูงของพี่น้องคนไทยเชื้อสายจีน ศาลเจ้าแห่งนี้แต่เดิมตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างถนนท่าดินแดง ก็ได้ย้ายศาลเจ้าแห่งนี้ขึ้นมาอยู่ติดกับถนน โดยตั้งอยู่ห่างจากจุดเดิมเกือบ 200 เมตร การโยกย้ายต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ ในอนาคต หากมีการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เกิดพื้นที่จราจรมากขึ้น (ไม่ใช่ให้มาขี่จักรยานหรือเดินเล่น) วัด โบสถ์หรือศาสนสถานอื่น ๆ รวมทั้งบ้านเรือนก็ต้องได้รับการรื้อถอน แต่อาจจัดหาที่ให้อยู่ใกล้เคีงที่ตั้งเดิม เป็นต้น

หากพิจารณาถึงวัฒนธรรมจีน จะเห็นได้ว่า ชาวจีนได้ย้ายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก วัฒนธรรมของชาวจีนก็ติดตามไปด้วย ไม่ได้สูญหายไปไหน ดังนั้นข้ออ้างทางด้านวัฒนธรรมจึงเป็นเพียงข้ออ้าง "ลวงโลก" ที่อ้างเพื่อหวังจะอยู่ต่อ ไม่ยอมย้าย หรือกีดขวางการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม อย่างไรก็ตามหากการเวนคืนเป็นไปแบบ "ต่ำ-ช้า" คือจ่ายค่าทดแทนต่ำๆ จ่ายช้าๆ อย่างที่เคยเป็นในอดีต คงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เช่นกัน การจัดการของภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่พึงปรับปรุงนั่นเอง

ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน อย่าให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย

อ้างอิง

<1> โปรดดูในเอกสารประกอบการอบรมทางไกลเรื่อง "การประเมินเพื่อการเวนคืน" (Real Estate Acquisition under the Uniform Act) ของ National Highway Institute of the Federal Highway Administration of the US Department of Transport http://www.fhwa.dot.gov/REALESTATE/distlearn.htm

<2> ข้อมูลจากคุณนคร มุธุศรี โปรดอ่านได้ในบทความของผู้เขียนเรื่อง "กฎหมายอสังหาริมทรัพย์: เพื่อส่วนรวมจริงหรือ" ที่http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market80.htm

อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 167/2559: วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2559ผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit