สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันพุธที่ 20 มกราคม 2559

25 Jan 2016
1. ความก้าวหน้าโครงการบรรเทาผลกระทบจากปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน

โครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ให้ได้รับสิทธิ์ซื้อก๊าซ LPG ในราคาเดิมที่ 18.13 บาท/กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2556 จนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

1) ระยะที่ 1 (1 ก.ย. 2556 – 1 ก.พ. 2558 ) กองทุนน้ำมันฯ รับภาระช่วยเหลือ 348 ล้านบาท

2) ระยะที่ 2 (2 ก.พ. 2558 – ปัจจุบัน) ปตท. รับภาระช่วยเหลือ 586 ล้านบาท

ผลการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2556 จนถึง 31 ธ.ค. 2558 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ช่วยเหลือ ร้านค้าก๊าซ LPG ที่เข้าร่วมโครงการฯ และการใช้สิทธิ์ซื้อก๊าซ LPG ในราคาเดิม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้1) จำนวนผู้มีสิทธิ์

1.1) ครัวเรือนรายได้น้อย 7,569,867 สิทธิ์

1.2) ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร 362,828 สิทธิ์รวม 7,932,695 สิทธิ์2) จำนวนร้านค้าก๊าซ LPG : ทั่วประเทศ 47,417 ร้าน เข้าร่วมโครงการฯ 7,616 ร้าน3) ยอดการใช้สิทธิ์

การใช้สิทธิ์ (ครั้ง)

ปริมาณก๊าซ LPG (ล้านกิโลกรัม)

เงินช่วยเหลือ (ล้านบาท)

3.1) ครัวเรือนรายได้น้อย

754,788

8

39

3.2) ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร

9,224,632

186

894

รวม

9,979,420

194

933

การดำเนินโครงการฯ ในระยะต่อไป - ตั้งแต่ ม.ค. – มิ.ย. 2559 ปตท. รับภาระช่วยเหลือภายในวงเงิน 500 ล้านบาท หรือจนกว่าจะมีกลไกถาวรใหม่มารองรับ- มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นหน่วยงานหลักในกำกับดูแลโครงการฯ และเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน แทน สนพ. 2. แนวทางการดำเนินการเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG

ปัจุบันการกำหนดราคาต้นทุนการจัดหาก๊าซ LPG ของโรงกลั่นที่ CP-20 และการนำเข้าที่ CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน ไม่อิงกลไกตลาดแต่ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐ จึงทำให้ราคาตั้งต้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตและจัดหาที่แท้จริง ทำให้การไม่มีการแข่งขันในระบบค้าก๊าซ LPG อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้ง มี ปตท. รายเดียวที่นำเข้าก๊าซ LPG และเพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG เป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศโดยชดเชยค่าขนส่งให้เฉพาะคลังก๊าซของ ปตท. ทำให้ยังไม่เกิดกลไกที่เหมาะสมและเป็นธรรม· แนวทางการแก้ไขปัญหา ควรดำเนินการเปิดให้ธุรกิจก๊าซ LPG มีความเป็น "เสรี" มากขึ้น โดยให้มีผู้นำเข้าก๊าซ LPG มากกว่า 1 ราย โดยมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้

ระยะที่ 1 ยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการให้ผู้ค้าก๊าซรายอื่น (ที่ไม่ใช่ ปตท.) นำเข้า เช่น มาตรการเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าที่ล่าช้า และให้ ปตท. เปิดให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน LPG (ท่าเรือนำเข้า คลัง) แก่ผู้นำเข้ารายอื่น โดย ปตท. ยังสามารถกำหนดให้มีค่าบริการและกฎระเบียบการใช้คลังที่เหมาะสม เป็นธรรม รวมทั้งเสนอให้มีการยกเลิกการชดเชยค่าขนส่งก๊าซ LPG ไปยังคลังภูมิภาค

ระยะที่ 2 เปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้า แต่ยังกำกับราคานำเข้าที่ไม่เกิน CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยแบ่งปริมาณนำเข้าของ ปตท. บางส่วน ให้ผู้ประกอบการรายอื่นด้วยระบบโควต้า และให้สามารถนำเข้าได้มากกว่าโควต้าที่ได้รับตามที่กรมธุรกิจพลังงานจะเห็นสมควรและกำหนด แต่หากไม่มีผู้ค้ามาตรา 7 ก๊าซรายใดยื่นความประสงค์ที่จะนำเข้าก๊าซ LPG แสดงว่าราคานำเข้าที่ CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็นราคาที่ต่ำที่สุดสำหรับการนำเข้าก็จะต้องเป็นบทบาทของ ปตท. ที่จะต้องนำเข้าในราคาดังกล่าว

ระยะที่ 3 เปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้า ด้วยราคานำเข้าที่ CP+X เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยให้มีการทบทวนสูตรราคานำเข้าจาก CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น CP+X เหรียญสหรัฐ/ตัน เพื่อให้สะท้อนต้นทุนการขนส่ง (ค่าเรือ) ซึ่งปรับตามตลาดโลก เพื่อจูงใจให้มีผู้นำเข้ารายอื่นสามารถนำเข้าได้

ระยะที่ 4 เปิดการประมูลการนำเข้าก๊าซ LPG โดยเมื่อปริมาณโควต้าของผู้ประกอบการทุกรายรวมกันมากกว่าปริมาณที่ต้องนำเข้าให้ใช้วิธีการประมูล (bidding) โดยให้ กรมธุรกิจพลังงานเปิดประมูลการนำเข้า โดยให้สิทธินำเข้าแก่ราคาต่ำสุดที่น้อยกว่า CP+85 หรือ CP+X เหรียญสหรัฐ/ตัน (ตามแต่กรณี) จนถึงปริมาณรวมที่ประเทศต้องนำเข้า เป็นต้น

การดำเนินการตาม Roadmap จะเปิดให้มีผู้นำเข้าก๊าซ LPG มากกว่า 1 รายก่อนและรอติดตามผลการดำเนินงานภายใน 1 ปีก่อนเปิดเสรีเต็มรูปแบบ เพื่อให้ผู้ค้าก๊าซทั้งจากกลุ่มโรงกลั่นและนำเข้าจะมีเวลาในการเตรียมตัวเข้าสู่ระบบแข่งขันเสรี รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้บริโภคปรับตัวด้วย 3. แนวทางการปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV)

การปรับราคาขายปลีกก๊าซ NGV ภายในรัศมี 50 กิโลเมตร ตั้งแต่ 26 ส.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้ทยอยปรับราคาฯ มาแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดปรับตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558 ซึ่งเห็นชอบให้ราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลขึ้นมาอยู่ที่ 13.50 บาท/กิโลกรัม ส่วนรถโดยสารสาธารณะคงราคาไว้ที่ 10.00 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาขายปลีกฯ ดังกล่าว ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

การปรับต้นทุนค่าขนส่งก๊าซ NGV นอกรัศมี 50 กิโลเมตร จากการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ถ้าราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 32 บาท/ลิตร ต้นทุนค่าขนส่งก๊าซ NGV นอกรัศมี 50 กิโลเมตร จากสถานีหลัก จะอยู่ที่ 0.0167 บาท/กิโลเมตร/กิโลกรัม ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ NGV ณ สถานีบริการที่อยู่ไกลจากสถานีหลัก มีราคาเพิ่มขึ้นตามระยะทาง แต่เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลลดลงมาอยู่ที่ 24.56 บาท/ลิตร ดังนั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกก๊าซ NGV ในพื้นที่ห่างไกลสถานีหลัก สนพ. จึงได้ปรับลดต้นทุนค่าขนส่งฯ ลงมาอยู่ที่ 0.0150 บาท/กิโลกรัม/กิโลเมตร ตามระยะทางจริง

การดำเนินการต่อไป- ให้ลอยตัวราคาขายปลีกก๊าซ NGV ภายในรัศมี 50 กิโลเมตร แบบมีเงื่อนไข คือ ในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ (ตั้งแต่ 21 ม.ค. – 15 ก.ค. 2559) ขอความร่วมมือจาก ปตท. กำหนดเพดานราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไป อยู่ที่ 13.50 บาท/กิโลกรัม แต่หากในช่วงเวลาดังกล่าว ต้นทุนราคาก๊าซ NGV ต่ำกว่า 13.50 บาท/กิโลกรัม ให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปลงเพื่อให้สะท้อนต้นทุนทันที และตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป ให้ยกเลิกเพดานราคาและให้ราคาก๊าซ NGV ลอยตัวตามต้นทุน โดยให้มีการปรับราคาขายปลีกก๊าซ NGV ทุกวันที่ 16 ของเดือน โดยให้กลไกสะท้อนต้นทุนราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ของเดือนที่ผ่านมาในการคำนวณตามหลักเกณฑ์

ทั้งนี้ สำหรับรถโดยสารสาธารณะให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ไว้เท่าเดิม ที่ 10.00 บาท/กิโลกรัม เพื่อให้การปรับราคาก๊าซ NGV สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค พร้อมปรับเพิ่มวงเงินช่วยเหลือสำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ จาก 9,000 บาท/เดือน เป็น 10,000 บาท/เดือน และจาก 35,000 บาท/เดือน เพิ่มเป็น 40,000 บาท/เดือน จนกว่าจะมีกลไกอื่นมาดูแลต่อไป

  • สำหรับการปรับต้นทุนค่าขนส่งก๊าซ NGV นอกรัศมี 50 กิโลเมตรจากสถานีหลัก ให้ปรับวิธีการคำนวณค่าขนส่ง โดยใช้อัตราค่าขนส่งอยู่ที่ 0.0150 บาท/กิโลกรัม/กิโลเมตร แต่สูงสุดไม่เกิน 4 บาท/กิโลกรัม ให้ทยอยการบังคับใช้ เพื่อให้มีผลกระทบกับผู้บริโภคน้อยที่สุดไป4. การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

จากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีการอ้างอิงราคาน้ำมันนั้น ไม่ได้ลดลงตามราคาน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซิน และน้ำมันแก๊สโซฮอลอยู่ในระดับที่เหมาะสม และให้สามารถปรับภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น กบง. จึงเห็นควรดำเนินการ ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของ น้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล (E10) และ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.60 บาท/ลิตร เพื่อให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 17 มกราคม 2559 มีฐานะสุทธิ 42,225 ล้านบาท ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1,152 ล้านบาท/เดือน