การเข้าเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Development Bank: AIIB) ของประเทศไทย

27 Jan 2016
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ได้แก่ การอนุมัติวงเงินลงทุนในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Development Bank: AIIB) ในส่วนของประเทศไทยตามสัดส่วนที่ได้รับตามขนาดเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 1.4275 ของเงินทุน จดทะเบียนของ AIIB รวมถึงคณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบให้นำร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับ ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย พ.ศ. .... พร้อมด้วยข้อบทของความตกลงว่าด้วยธนาคารเพื่อ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Articles of Agreement of AIIB) ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบท ของความตกลงฯ และเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวแล้ว ประเทศไทย จะสามารถดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันต่อความตกลงฯ เพื่อเข้าเป็นสมาชิกของธนาคารอย่างสมบูรณ์ต่อไป

ความริเริ่มในการจัดตั้งธนาคาร AIIB เพื่อเป็นกลไกทางการเงินระหว่างประเทศในระดับพหุภาคี(Multilateral Financing Mechanism: MFM) ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย เริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมหารือในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง (Founding Members) ร่วมกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งสิ้น 57 ประเทศ ขณะนี้มีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบัน แล้ว 30 ประเทศ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 AIIB ได้มีพิธีเปิดทำการธนาคารอย่างเป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

การเปิดดำเนินการของธนาคาร AIIB ถือเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนทางเลือกสำหรับการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน และในสาขาการผลิตอ่นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศสมาชิกรวมถึงประเทศไทย โดยภูมิภาค เอเชียยังมีความต้องการเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในด้านพลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการสื่อสาร ซึ่งการดำเนินงานของธนาคารจะสอดคล้องกับแนวนโยบายของ รัฐบาลไทยในอันที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันของประเทศสมาชิกในภูมิภาค การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและ สังคมในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป