ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางรับตรวจตัวอย่างเชื้อโรคที่ส่งต่อมายังประเทศข้างเคียง และเป็น training center ด้านการพัฒนาห้องปฏิบัติการ

25 Aug 2016
กระทรวงสาธารณสุขไทยโชว์ศักยภาพการเป็นผู้นำด้านการตรวจวินิจฉัยโรคติดต่อร้ายแรงสูง และมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ในเวทีการประชุมวาระความมั่นคงสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda :GHSA) พร้อมเป็นศูนย์กลางรับตรวจตัวอย่างเชื้อโรคที่ส่งต่อมายังประเทศข้างเคียงและเป็น training center ด้านการพัฒนาห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข
ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางรับตรวจตัวอย่างเชื้อโรคที่ส่งต่อมายังประเทศข้างเคียง และเป็น training center ด้านการพัฒนาห้องปฏิบัติการ

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวภายหลังการประชุมสรุปผลร่วมกัน (Face-to-Face) ระหว่างกลุ่มประเทศผู้นำของวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ของชุดกิจกรรม Detect1: ระบบห้องปฏิบัติการแห่งชาติ (National Laboratory System) จากการประชุมระหว่างประเทศ "Enhancing Regional Partnership towards Strengthening Laboratory System in Accelerating GHSA'S Implementation: Detect 1" ณ โรงแรม เดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานครว่าซี ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเจตจำนงในการประชุมสุดยอดความมั่นคงสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda :GHSA)ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2557ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดีว่าไทยจะเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการให้สามารถตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ได้แม่นยำ รวดเร็ว และการพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยา เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง สอบสวนและควบคุมโรค

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีศักยภาพในการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ครอบคลุมโรคร้ายแรงต่างๆ มีประสบการณ์และความพร้อมในด้านการฝึกอบรมระหว่างประเทศในหลายด้าน จึงมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางรับตรวจตัวอย่างที่ส่งต่อมายังประเทศข้างเคียง และเป็น training center ด้านการพัฒนาห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข

การประชุม GHSA หรือ Global Health Security Agenda หรือวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกเป็นการประชุมร่วมระหว่างประเทศเจ้าภาพหลักและประเทศสมาชิกในภูมิภาค ASEAN และ SARRC และองค์การระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งผู้เชี่ยวชาญและแหล่งทุน เพื่อมุ่งหวังทำให้โลกมีความปลอดภัย และมั่นคงจากภัยคุกคามของโรคติดเชื้ออันตรายร้ายแรงต่างๆ รวมทั้งเป็นเครื่องมือที่ช่วยเร่งการพัฒนาสมรรถนะด้านชีวะของกฎหมายอนามัยระหว่างประเทศ 2548 (International Health Regulations 2005 / IHR) เพื่อร่วมกันผลักดันให้กิจกรรมที่ปรากฏใน Road Map สามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการสาธารณสุขของประเทศไทยให้สามารถตรวจพิสูจน์ยืนยันโรคติดต่อร้ายแรงสูง ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมทั้งให้มีระบบการส่งต่อตัวอย่างที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และรณรงค์ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือจากประเทศต่างๆในโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคใกล้เคียง ในการพัฒนาศักยภาพระบบห้องปฏิบัติการให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากโรคติดต่อร้ายแรงสูง ที่เป็นโรคติดต่อข้ามพรมแดน เช่น โรค Ebola, โรคเมอร์ส ฯลฯ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงที่ไม่มีพรมแดน การเสริมสร้างสมรรถนะทางห้องปฏิบัติการเพื่อตอบโต้กับโรคร้ายแรงของภูมิภาค จึงเท่ากับเป็นการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพแก่ประชาชน

นายแพทย์อภิชัยกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการและการมีระบบการส่งต่อตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพโดยมีไทยเป็นประเทศผู้นำร่วมกับ สหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ มีประเทศผู้สนับสนุนอีก 11 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา จีน เอธิโอเปีย ฟินแลนด์ จอร์เจีย อิสราเอล ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก เปรู สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ เยเมน และสหราชอาณาจักร มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบห้องปฏิบัติการ มีขีดความสามารถในการตรวจ ณ จุดดูแลผู้ป่วยและการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ให้ได้รับการปกป้องภัยอันตรายจากความเสี่ยงที่จะเกิดจากการติดเชื้อโรคระบาดข้ามพรมแดนที่มีอันตรายร้ายแรงสูง เป็นการรักษาชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที เพราะห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพจะสามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ช่วยให้ทีมแพทย์สามารถทำการรักษาได้รวดเร็ว ตรงโรค ในขณะที่ทีมป้องกันสามารถยับยั้งการเคลื่อนย้าย และกักกันสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่เป็นพาหะโรค ยับยั้งการเดินทางของผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยว่านำเชื้อโรค และกักกัน เฝ้าระวังการกระจายเชื้อจากคนสู่คน สัตว์สู่คน ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยได้เดินหน้าไปอีกขั้น ในการจะทำให้ภูมิภาคนี้ของโลกมั่นคงขึ้น"

"นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ให้การสนับสนุนการดำเนินการตามแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบห้องปฏิบัติการระดับภูมิภาค ซึ่งมีทั้งหมด 7 ประเด็นได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ นโยบาย การขึ้นทะเบียน และการอนุญาต 2.ขีดความสามารถการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ 3.ระบบบริหารคุณภาพ 4.ระบบบริหารความเสี่ยงทางชีวภาพ 5. การทำงานเป็นเครือข่าย 6.สุขภาพหนึ่งเดียว (สุขภาพคนและสุขภาพสัตว์) และ 7.กำลังคนทางห้องปฏิบัติการ โดยคาดหวังให้แต่ละประเทศนำไปปรับใช้เป็นกรอบการคัดเลือกกิจกรรมที่จะดำเนินการในระดับภูมิภาค และเป็นเครื่องมือในการติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการตามแนวทาง GHSA ตามบริบทและความเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ ซึ่งไทยได้กำหนดแผนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยมุ่งเน้นให้มีการนำเสนอความสำเร็จของการดำเนินงานด้านพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการตามแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ที่ได้ร่วมกันกำหนดด้วย"นายแพทย์อภิชัยกล่าว