ปภ. ประสานทุกภาคส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด ป้องกันการขาดแคลนน้ำกรณีเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง

06 Jun 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 37 จังหวัด จากการประสานข้อมูลสภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2559 พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น สำหรับระยะครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน 2559 ปริมาณและการกระจายตัวของฝนจะลดลง อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน พร้อมขอความร่วมมือประชาชนมิให้ลักลอบสูบน้ำจากคลองส่งน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาและใช้น้ำอย่างประหยัด กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรให้วางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ

นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) อำนวยการติดตาม ซักซ้อมการเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ครั้งที่ 19/2559 กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 37 จังหวัด 241 อำเภอ 1,258 ตำบล 10,034 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 13.38 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 11 จังหวัด จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 8 จังหวัด และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 18 จังหวัด รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เน้นการแจกจ่ายน้ำ เติมน้ำในภาชนะกลางสำหรับให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤติขาดแคลนน้ำในจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ นครสวรรค์ และกำแพงเพชร จากการประสานข้อมูลสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2559 พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น สำหรับระยะครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน 2559 ปริมาณและการกระจายตัวของฝนจะลดลง อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน สำหรับกรณีหน่วยบริการดอนเจดีย์ ของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากต้องใช้น้ำจากคลองมะขามเฒ่า – อู่ทอง ในการผลิตน้ำประปา ที่ประชุมฯ จึงได้ประสานจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ขอความร่วมมือเกษตรกรงดสูบน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนมิให้ลักลอบสูบน้ำจากคลองส่งน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา เพราะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา อีกทั้งจากการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พบว่า เขื่อนส่วนใหญ่ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาไม่มีน้ำไหลเข้ามาเติมในเขื่อน ในขณะที่ยังคงต้องระบายน้ำออกสำหรับจัดสรรให้ประชาชนใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 206 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นระดับน้ำต่ำที่สุดในรอบ 52 ปี จึงต้องปรับลดปริมาณการระบายน้ำลงจากวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะลดลงใกล้ระดับกักเก็บต่ำสุดในเดือนกรกฎาคม 2559 และอาจต้องนำน้ำสำรองที่อยู่ก้นเขื่อนมาใช้งาน จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรให้วางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th