รถเข็นไฟฟ้าขึ้นบันได นวัตกรรมช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้น-ลงบันได

30 Jun 2016
"รถเข็นไฟฟ้าขึ้นบันได" ผลงานบุคลากรจาก 3 สถาบันร่วมวิจัยคิดค้น นำโดย ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และ พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี ผู้อำนวยการกองเวชศาสตร์ฟื้นฟู พ.ต.นพ.ธง พงษ์หาญยุทธ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พร้อมด้วย พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ผนึกกำลังคิดค้นร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ประดิษฐ์คิดค้นร่วมกับแพทย์และพยาบาล โดยใช้ชื่อว่า "PMK: Electric Power Wheelchair Upstairs"
รถเข็นไฟฟ้าขึ้นบันได นวัตกรรมช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้น-ลงบันได

พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี เผยว่า การนำรถเข็นไฟฟ้าแบบขึ้น-ลงบันได เป็นผลงานวิจัยอีกผลงานหนึ่ง ที่สามารถเคลื่อนย้ายตัวผู้ป่วยขึ้นและลงบันได โดยทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องออกแรงมากและมีผู้ดูแลแค่เพียงคนเดียว เหมาะสำหรับผู้ป่วยหลายประเภทเช่น หลอดเลือดสมอง บาดเจ็บทางสมอง บาดเจ็บไขสันหลัง หรือบาดเจ็บไขสันหลังที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกายทำให้ไม่สามารถเดินได้ สำหรับผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยจะเริ่มต้นที่กล้ามเนื้อที่ต้นแขนและต้นขาก่อน โดยได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscular Dystrophy) ซึ่งจะทำให้ระยะแรกกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงไม่สามารถยืนเดินได้ จำเป็นต้องใช้รถเข็นตลอดชีวิต ประกอบกับผู้ป่วยรายนี้มีบ้านพักเป็นห้องแถวโดยชั้นล่างประกอบธุรกิจ ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่บนชั้นสองตลอดเวลา ถ้ามีรถเข็นประเภทนี้จะทำให้ผู้ป่วยสามารถสามารถลงมาชั้นล่างและใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับสังคมได้ดียิ่งขึ้น ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า "รถเข็นไฟฟ้าขึ้นบันได" นี้ได้พัฒนาจากรุ่นที่แรกจนมาถึงรุ่นปัจจุบัน ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ ตัวรถเข็นไฟฟ้า ชุดคานจับยึด และรถตีนตะขาบ สำหรับตัวรถตีนตะขาบจะใช้ ดีซีมอเตอร์ (DC Motor) ขนาด 350 วัตต์ 24 โวลต์ แกนมอเตอร์ด้านหน้ายึดติดกับเกียร์บล็อก (Gear Box) ขนาดอัตราทด 1:50สายพานเป็นแบบเหล็กยึดติดกับยางเพื่อให้ยึดเกาะบันได มีแบตเตอรี่ 2 ชุด ชุดละขนาด 24 โวลต์ต่ออนุกรม ส่วนระบบความปลอดภัยเมื่อนำผู้ป่วยขึ้นลงบันไดถ้าแบตเตอรี่หมด เราสารมารถ กดสวิตซ์เพื่อเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่ชุดที่ 2 ได้ทันที และในช่วงเริ่มต้นจะจับตัวผู้ป่วยเอียงประมาณไม่เกิน 35 องศาลงมาพร้อมกับรถเข็นไฟฟ้าและอยู่บนรถตีนตะขาบ เมื่อรถเข็นเคลื่อนที่ขึ้น-ลง ตัวผู้ป่วยจะอยู่ในลักษณะท่านั่งบนตัวรถเข็นไฟฟ้าแบบท่านั่งปกติ

"รถเข็นไฟฟ้าขึ้นบันได" เกิดจากความร่วมมือทางการแพทย์เพื่อนำมาใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โทร.0-2549-4746

รถเข็นไฟฟ้าขึ้นบันได นวัตกรรมช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้น-ลงบันได