เซาท์อีสเอเชีย ยกไทยต้นแบบ PD First Policy

14 Nov 2016
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ล้างไตทางช่องท้อง เซาท์อีสเอเชีย ยกไทยต้นแบบ PD First Policy
เซาท์อีสเอเชีย ยกไทยต้นแบบ PD First Policy

โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการนโยบายการล้างไตทางช่องท้อง"PD First Policy; Onsite Study"ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) และเอเชียใต้ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ อาทิ อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเชีย มาเลเซีย เวียดนาม และเมียนมาร์ เป็นต้น ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อเร็วๆนี้

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเชิงนโยบายเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์นโยบายการล้างไตทางช่องท้อง อันเป็นการช่วยยกระดับการบริการและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำนโยบายการล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรก หรือ PD first Policy ไปปรับใช้กับประเทศของตน ซึ่งประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศต้นแบบที่ประสบความสำเร็จกับการนำนโยบายนี้เข้ามาใช้ในการบำบัดไตทดแทนในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งโรงพยาบาลบ้านแพ้วฯ เป็นนับเป็นองค์การมหาชน ที่เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง (PD) แห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มองเห็นความสำคัญของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการนำนโยบาย PD first เข้ามาใช้ในไทยได้ช่วยตอบโจทย์ด้านการรักษาในวงกว้าง เป็นวิธีที่ใช้เครื่องมือและพยาบาลที่ไม่ซับซ้อนมากนัก ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเอง จึงสามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวนมาก

พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ในฐานะประธานจัดงานประชุม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ริเริ่มนำนโยบาย "PD first policy" ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2551 โดยผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะได้รับบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรกและเบิกค่ารักษาได้เต็มจำนวน พบว่า ช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องแล้วกว่า 20,000 ราย เนื่องจากเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านอัตราการรอดชีวิต และประสิทธิภาพด้านรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเป็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้าน ช่วยให้สะดวกประหยัดค่าเดินทางและค่ารักษาทางการแพทย์ เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันที่ขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์

"ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่เราได้เปิดศูนย์ PD มาร่วม 10 ปี ทำให้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย และพัฒนาหาแนวทางแก้ไข ให้ได้รับความคุ้มค่าในด้านการรักษาโดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและด้านการเงินได้อย่างคุ้มค่า ช่วยให้ประเทศไม่ต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาที่มากเกินไป นอกจากนี้ ศูนย์ PD รพ.บ้านแพ้วฯ ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้กับบุคลากรด้านการแพทย์ที่ต้องการเรียนรู้เรื่อง PD โดยมีศูนย์ PD จากโรงพยาบาลต่างๆส่งบุคลากรเข้ามาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านต่างๆ ตั้งแต่การเริ่มต้นนโยบาย การเตรียมความพร้อมด้านบุคลลากร สถานพยาบาล การเปิดศูนย์ PD ระบบการจัดส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้านผู้ป่วย การบริหารกองทุน ความคุ้มค่าด้านการรักษา และผู้เข้าร่วมประชุม ยังได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ PD รพ.บ้านแพ้ว และศูนย์กระจายถุงน้ำยาล้างไตของการสื่อสารแห่งประเทศไทยอีกด้วย" พญ.ปิยะธิดา กล่าว

ด้าน ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP ระบุว่า การให้บริการด้านการรักษาทดแทนไต นับว่ามีความสำคัญต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีจุดประสงค์ในการป้องกันไม่ให้ครอบครัวผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังต้องล้มละลายจากการรักษาพยาบาล ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนที่ยังไม่มีโครงการของสปสช. ครอบครัวผู้ป่วยต้องสูญเสียเงินเป็นค่ารักษา จนหมด หมดแล้วก็หยิบยืม เมื่อยืมไม่ได้ ก็ขายทรัพย์สิน จนล้มละลาย ลูกหลานต้องหยุดเรียน และไม่มีเงินใช้หนี้สินต่างๆ ที่เกิดขึ้น

"แต่หลังจากมีโครงการ สปสช. ก็ช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องล้มละลาย ซึ่งถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับโครงการนี้ โดยเริ่มให้ทุกคนมาทำ PD เป็นอันดับแรกจากการวิจัยพบว่า การล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง สามารถช่วยคนจนได้มากกว่า ทั้งในเรื่องค่ารักษา ค่าเดินทาง และเวลา ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี และน่าสนใจมาก ที่ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน อย่างประเทศอินโดนีเซียได้ให้ความสนใจในโครงการ PD first policy ของไทยเรามาก โดยได้นำร่อง 1 จังหวัดก่อน ถ้าได้ผลดี ก็จะขยายเป็นวงกว้างต่อไป โดยมีประเทศไทยเป็นต้นแบบ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองก็ยังคงต้องมีการศึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ และการรักษา เพื่อพัฒนาให้โครงการนี้มีสามารถรองรับการรักษาที่จะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วย" ดร.นพ.ยศ กล่าว