รายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 7 มีนาคม 2560

13 Mar 2017
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงงาน และ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่าที่ประชุม กบง. ได้พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนมีนาคม 2560 โดยจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนมีนาคม 2560 ได้ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 15 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 540 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.4221 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 35.1893 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับลดลง 0.9327 บาท/กก. จาก 21.5114 บาท/กก. เป็น 20.5787 บาท/กก. ดังนั้น เพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเตรียมการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG เต็มรูปแบบในอนาคต ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนมีนาคม 2560ไว้ที่ 20.96 บาท/กก. โดยปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลง 0.9327 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 7.5663 บาท/กก. เป็นชดเชยที่ 6.6336 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายจ่ายลดลงจากเดือนก่อน ประมาณ 47 ล้านบาท จากเดิมมีรายจ่ายอยู่ที่ 490 ล้านบาท/เดือน ลดลงเหลือ 443 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ 40,423 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 6,961 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,462 ล้านบาท
รายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 7 มีนาคม 2560

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ยังได้พิจารณาเรื่องการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG กรณีการนำเข้าและส่งออกก๊าซ LPG ทั้งนี้ เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลน และรักษาระดับสมดุลของการผลิตและจัดหาก๊าซ LPG ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ภายในประเทศ ที่ประชุม กบง. จึงได้รับทราบมาตรการรองรับความเสียหายอันเกิดจากการชดเชยราคาส่วนต่างจากการนำเข้าก๊าซ LPG แบบฉุกเฉิน (Prompt Cargo) พร้อมเห็นชอบหลักการการขออนุญาตส่งออกก๊าซ LPG ออกนอกราชอาณาจักร โดยให้กรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้ควบคุมดูแล และพิจารณาการขออนุญาตส่งออกเป็นรายเที่ยว โดยการขออนุญาตส่งออกก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ภายในประเทศ จะพิจารณาอนุญาตเฉพาะผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่เป็นผู้ผลิตก๊าซ LPG ให้สามารถส่งออกได้ในกรณีที่มีก๊าซ LPG เกินกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ และให้ผู้ส่งออกมีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามอัตราที่กำหนด โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รับไปดำเนินการออกประกาศอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการส่งออกก๊าซ LPG ดังกล่าวต่อไป