ไขปัญหา (หลอดเลือด) หัวใจ (ตีบ) รู้อาการ รู้ปัจจัย ป้องกันไว้ ก่อนสาย!!

02 Oct 2018
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่พบบ่อยมากในปัจจุบัน สาเหตุเกิดจากการมีภาวะแข็งตัวของผนังหลอดเลือดแดงจากการสะสมของไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือดแดงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลง โดยอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น บางรายอาจไม่พบอาการอะไรเลย แต่โดยทั่วไปจะพบว่ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก (angina) และอาจเจ็บลามไปขากรรไกรหรือไหล่ซ้าย มักเป็นมากขณะออกกำลังกายหรือทำงาน อาจเจ็บครั้งละ 2-3 นาที ความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น เจ็บกลางหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่ เจ็บแบบจุกแน่นคล้ายมีอะไรมาบีบหรือกดทับไว้ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย หากเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) อาจทำให้เสียชีวิตกะทันหัน เช่น เล่นกีฬาแล้วเสียชีวิต เป็นต้น เราสามารถสังเกตปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ จากข้อมูลดีๆ โดย ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ดังนี้
ไขปัญหา (หลอดเลือด) หัวใจ (ตีบ) รู้อาการ รู้ปัจจัย ป้องกันไว้ ก่อนสาย!!

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มี 2 ปัจจัย คือ 1.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ อายุมากขึ้น และ 2. ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย ไลฟ์สไตล์แบบนั่งอยู่กับที่ (Sedentary Lifestyle) ซึ่งเราสามารถรักษาได้โดยใช้กระบวนการทาง Cath Lab หรือห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ซึ่งเป็นทางเลือกของการตรวจรักษาหัวใจแบบไม่ผ่าตัด โดยห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ หรือห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Catheterization : Cath Lab) เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ได้มาตรฐาน ให้ผลแม่นยำสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ

จุดเด่นของการสวนหัวใจคือ สามารถรักษาควบคู่กับการตรวจวินิจฉัย ไม่ต้องทำผ่าตัดใหญ่ ขนาดแผลเล็ก เจ็บตัวน้อย นอนโรงพยาบาลระยะสั้น ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว มีความเสี่ยงน้อย โดยก่อนทำการสวนหัวใจแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะจุด แล้วใส่สายสวนขนาดเล็กผ่านทางหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบไปยังหลอดเลือดหัวใจ สามารถทราบผลการวินิจฉัยทันทีหลังการตรวจ ถ้าตรวจพบว่ามีการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ แพทย์สามารถให้การรักษาโดยขยายหลอดเลือดควบคู่ได้เลยหลังจากตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจเสร็จแล้ว

ดังนั้น หากมีอาการเจ็บหน้าอก และสงสัยว่าเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์จะตรวจเบื้องต้นถึงโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบตันจากอาการเจ็บหน้าอกว่าใช่หรือไม่ และมีความรุนแรงเพียงใด แล้วตรวจเพิ่มเติมด้วยการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือด วิ่งสายพาน และอัลตร้าซาวด์หัวใจ เมื่อผลการตรวจมีข้อบ่งชี้ของหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จึงวินิจฉัยขั้นสุดท้ายด้วยการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ เพื่อวางแผนการรักษาขั้นต่อไป

เพียงเท่านี้ เราก็สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของการเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ หรือสามารถขอคำปรึกษาได้จากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (จังหวัดสมุทรปราการ) โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ (จังหวัดนครสวรรค์) โรงพยาบาลพิษณุเวช (จังหวัดพิษณุโลก) และโรงพยาบาลสหเวช (จังหวัดพิจิตร)) และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่ www.princhealth.com

ไขปัญหา (หลอดเลือด) หัวใจ (ตีบ) รู้อาการ รู้ปัจจัย ป้องกันไว้ ก่อนสาย!! ไขปัญหา (หลอดเลือด) หัวใจ (ตีบ) รู้อาการ รู้ปัจจัย ป้องกันไว้ ก่อนสาย!!