สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา 28 ม.ค. - 1 ก.พ. 62 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 4 - 8 ก.พ. 62 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 60.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 53.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 60.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 0.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 
          ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งจบลงเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 62 โดยที่ยังไม่มีข้อสรุป ทั้งนี้ประเด็นหลักคือปัญหาด้านการถ่ายโอนทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีของจีน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump เขียนข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ ระบุการประชุมเป็นไปด้วยดี แต่จะยังไม่มีการทำข้อตกลงขั้นสุดท้ายจนกว่าตนกับประธานาธิบดี Xi Jinping จะพบและร่วมเจรจาด้านการค้าในเดือน ก.พ. 62 เพื่อทำให้ข้อตกลงสมบูรณ์ (สหรัฐฯ กำหนดเส้นตายเพิ่มอัตราภาษีสินค้าจีน ภายในวันที่ 2 มี.ค. 62) 
          Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 900,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 445.9 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน และรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ รายสัปดาห์ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
          รัฐบาลมลรัฐ Alberta ในแคนาดามีนโยบายเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบชนิดหนัก (Heavy Crude) เพื่อป้อนโรงกลั่นสหรัฐฯ ทดแทนน้ำมันดิบเวเนซุเอลา จากเดิมที่ลดปริมาณการผลิต เนื่องจากปัญหา Oversupply และ Logistic ทั้งนี้ มลรัฐ Alberta ผลิต Heavy Crude เดือน ม.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 8.7% ที่ 3.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ เดือน ก.พ. - มี.ค. 62 จะผลิตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 3.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน 
          ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
ในวันที่ 25 ม.ค. 62 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ประกาศเปิดทำงานของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ชั่วคราวไปจนถึงวันที่ 15 ก.พ. 62 หลังจากปิดทำการรัฐบาลบางส่วนไปนานถึง 35 วัน ซึ่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และกระทบกับข้าราชการกว่า 800,000 คน ทั้งนี้ การผ่านงบประมาณชั่วคราวไม่ได้รวมถึงงบประมาณสำหรับการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ตามที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องการ 
          นาย Juan Guaido ประธานรัฐสภาเวเนซุเอลา ประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีรักษาการเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 62 โดยมีประธานาธิบดี สหรัฐฯ นาย Donald Trump ให้การรับรองเพื่อกดดันให้ประธานาธิบดี Nicolas Maduro ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งการแย่งชิงอำนาจข้างต้นทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจและกลุ่มผู้ประท้วงหลายแสนคนในกรุง Caracas ประเทศเวเนซุเอลา ด้านความเคลื่อนไหวในสหประชาชาติ จีนและรัสเซียยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลนาย Nicolas Maduro ขณะที่ สหรัฐฯ แคนาดา และกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี ออกประกาศเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 62 เรียกร้องให้ประธานาธิบดี Maduro จัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 8 วัน มิฉะนั้นกลุ่มประเทศสมาชิกยุโรปจะยอมรับนาย Juan Guaido เป็นประธานาธิบดี 
          29 ม.ค. 62 สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันแห่งชาติเวเนซุเอลา (PDVSA) ขั้นรุนแรง โดยสั่งห้ามบริษัทของสหรัฐฯ ซื้อน้ำมันจากเวเนซุเอลา ซึ่งอาจกดดันให้บริษัท PDVSA ต้องหยุดส่งน้ำมันไปยังสหรัฐฯ ทันที (เวเนซุเอลาส่งออกน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ 570,000 บาร์เรลต่อวัน Reuters ประเมินว่าเวเนซุเอลาส่งออกน้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2561 ลดลงจากปีก่อน 600,000 บาร์เรลต่อวัน และ Petromatrix คาดการณ์ว่าปีนี้จะส่งออกเพียง 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ 
          Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC 11 ประเทศ (ไม่รวมอิหร่าน เวเนซุเอลา ลิเบีย) ซึ่งอยู่ในข้อตกลงลดปริมาณการผลิตร่วมกับพันธมิตร ผลิตน้ำมันดิบ เดือน ม.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 740,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น Compliance Rate ที่ 70% (ซาอุดิอาระเบียลดปริมาณการผลิตสูงสุดที่ 350,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.25 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือ Compliance Rate ที่ 119% บ่งชี้ความมุ่งมั่นปฏิบัติตามข้อตกลง) 
          แนวโน้มราคาน้ำมัน 
          ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ แถลงการณ์รายละเอียดมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมพลังงานของเวเนซุเอลา โดยห้ามทำธุรกรรมซื้อขายน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลา และขยายขอบเขตไปถึงประเทศที่ 3 นอกเหนือจากบริษัทสหรัฐฯ ในลักษณะคล้ายกับมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยห้ามบริษัทใดๆ ทำธุรกิจกับเวเนฯ ผ่านระบบการเงินของสหรัฐฯ หรือ โบรกเกอร์ของสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 62 เป็นต้นไป ทั้งนี้ตลาดน้ำมันส่วนใหญ่ซื้อขายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นักวิเคราะห์มองว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลกมากกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ในรอบ 5 สัปดาห์ อีกทั้ง ด้านเศรษฐกิจ การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payroll) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 11 เดือน ให้จับตามองการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยการประชุม แม้ล่าสุดจีนตกลงจะซื้อถั่วเหลือง (Soybean) จากสหรัฐฯ ปริมาณ 5 ล้านตัน และซื้อ Oilseed ปริมาณ 1 ล้านตัน ส่งมอบในช่วง เม.ย.- ก.ค. 62 อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาว นาย Larry Kudlow เห็นว่ายังต้องมีการเจรจาเพิ่มเติมอีกมาก ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump และประธานาธิบดีจีน นาย Xi Jinping กำหนดการเจรจาอีกครั้งในเดือน ก.พ. 62 ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 52.5-57.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.5-63.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
          ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากแรงขายของ China National Offshore Oil Corp. (CNOOC) ของจีนปริมาณรวม 600,000 บาร์เรลส่งมอบปลายเดือน ก.พ. 62 และ Platts รายงานแอฟริกาตะวันตกลดการนำเข้าน้ำมันเบนซินจากตลาดยุโรป เนื่องจากมีปริมาณสำรองเพียงพอ โดยเฉพาะไนจีเรียที่กักตุนไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันมิให้ขาดตลาดในช่วงการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 62 ซึ่งปกติความต้องการใช้จะอยู่ในระดับสูง ด้านอุปสงค์ บริษัท JXTG Holdings Inc. ของญี่ปุ่นประมาณการณ์อุปสงค์น้ำมันเบนซินในญี่ปุ่น เดือน ม.ค. 62 ลดลงจากปีก่อน 3% มาอยู่ที่ระดับ 24.59 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 110,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.48 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Reuters คาดโรงกลั่นในเอเชียและยุโรปอาจลดการผลิตน้ำมันเบนซินเนื่องจากค่าการกลั่นอยู่ในระดับต่ำ และบริษัท CNOOC ของจีน มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Huizhou (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. 62 เป็นระยะเวลา 50 วัน ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 257.4 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 160,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 15.65 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 
          สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
          ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียเงียบเหงาในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน และอุปทานในยุโรปตะวันตกมีเพียงพอ อย่างไรก็ตาม Hindustan Petroleum Corp. Ltd. (HPCL) ของอินเดียออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.0045% S จำนวน 2 เที่ยวเรือๆ ละ 490,000 บาร์เรลส่งมอบ 4-7 ก.พ. 62 และ Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากเอเชียสู่ยุโรปเปิด ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 141.3 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 460,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.47 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 570,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.82 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
 
 

ข่าวสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ+สถานการณ์ราคาน้ำมันวันนี้

พีทีที สเตชั่น ขานรับนโยบายใหม่ ปรับสัดส่วนการผสมน้ำมันดีเซล จาก B7 เป็น B5 พร้อมส่งมอบน้ำมันคุณภาพสู่ผู้บริโภค เริ่ม 21 พฤศจิกายน นี้

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ประกาศพร้อมปรับสัดส่วนการผสม ไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา จากสูตร B7 เป็น B5 ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ภายในประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไบโอดีเซล โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567เป็นต้นไป นายพิมาน พูลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน OR เปิดเผยว่า "พีทีที สเตชั่น พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่าง

ราคาน้ำมันถูกกดดันต่อเนื่อง จากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงไร้ข้อสรุป

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 39-44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ...

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 39 - 44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 42 - 47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (17 – 21 ส.ค. 63) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มขยับขึ้นเล็กน้อย จากกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับลด...

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง จากเหตุความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ยังคุกรุ่น

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53 – 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 59 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์:...

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังความตึงเครียดสหรัฐฯ – อิหร่านยืดเยื้อ ขณะที่เจรจาการค้าสหรัฐฯ – จีน มีทิศทางบวก บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 56 – 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62 67 ...

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่ม หลังอุปทานตึงตัวจากสถานการณ์ความตึงเครียดสหรัฐฯ – อิหร่าน

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อน...

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา 21-25 ม.ค. 62 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 28 ม.ค. -1 ก.พ. 62 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.62 เหรียญสหรัฐฯ...

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มย่อตัวเล็กน้อย หลังอุปทานอาจไม่ลดลงตามคาดการณ์

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 28 มกราคม 2562 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 51 56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 59 64 ...

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 14-18 ม.ค. 62 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 21-25 ม.ค. 62 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 60.97 เหรียญสหรัฐฯ...