ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 39 - 44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 42 - 47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

17 Aug 2020

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (17 – 21 ส.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มขยับขึ้นเล็กน้อย จากกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับลด หลังอิรักตกลงที่จะร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตลงอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. และก.ย. 63 รวมทั้งกำลังการผลิตของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีน และสหรัฐฯ ที่มีทิศทางดีขึ้น อาจช่วยหนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่การดำเนินมาตรการล็อกดาวน์รอบสอง และส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลด หลังอิรักได้ตกลงที่จะร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตลงอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. และก.ย. 63 หลังจากเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากสมาชิกภายในกลุ่มโอเปก เพื่อให้ทุกประเทศปฏิบัติตามข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตร่วมกันตามปริมาณที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ
  • ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดต่อเนื่อง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ส.ค. 63 ปรับตัวลดลงจากระดับ 11.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ EIA ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2563 ลงจากระดับ 11.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 11.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน พร้อมกับปรับตัวเลขความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระดับ 18.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปสู่ระดับ 18.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจของจีนกลับมาเข้าใกล้ระดับเดิม ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิค-19 โดยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน ก.ค. (CPI) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 จากปีก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขแรงงานสหรัฐฯ ประจำเดือน ก.ค. 63 ปรับตัวดีขึ้น ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้น 1.76 ล้านตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 1.48 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ลดลงจากร้อยละ 11.1 เหลือร้อยละ 10.2
  • นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งพิเศษของฝ่ายบริหาร (Executive order) เพื่อขยายเวลาของมาตรการเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 โดยจะจ่ายเงินให้แก่ชาวอเมริกันที่ว่างงานสัปดาห์ละ 400 เหรียญสหรัฐฯ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หลังสภาสหรัฐฯ ไม่สามารถมีมติร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวได้
  • อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ วงเงิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากของวุฒิสภาสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทำเนียบขาวและสมาชิกพรรคเดโมแครต เริ่มการเจรจากันอีกครั้งเกี่ยวกับร่างกฎหมายเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากที่การเจรจาประสบความล้มเหลวไปก่อนหน้านี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยหากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าว
  • ตลาดน้ำมันยังถูกกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การดำเนินมาตรการล็อกดาวน์รอบสอง ซึ่งจะกระทบความต้องการใช้น้ำมัน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซนเดือน ก.ค. 63 รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการยูโรโซน (PMI Composite) เดือน ส.ค. 63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 – 14 ส.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 43.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงหนุนหลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ  ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 7 ส.ค. 63 ปรับตัวลดลงกว่า 4.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับลดลงเพียง 2.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน และนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ