การประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “นวัตกรรมการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน อย่างยั่งยืน (ASEAN Workshop on Innovative Financing Approaches for Sustainable Infrastructure)

22 Feb 2019
นางสาวเกตสุดา สุประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธานร่วมกับ นาย Ramesh Subramaniam ตำแหน่ง Director General, Southeast Asia Department ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "นวัตกรรมการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนอย่างยั่งยืน (ASEAN Workshop on Innovative Financing Approaches for Sustainable Infrastructure) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน จากหน่วยงานภาครัฐจากประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ ADB และสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศส (Agence Francaisse de Developpement) เป็นต้น นักวิชาการ และหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ เช่น ธนาคาร สถาบันลงทุน เป็นต้น จากสหภาพยุโรปและเอเชียแปซิฟิก

จากการที่ภูมิภาคอาเซียนมีความต้องการเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉลี่ย 210,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่งผลให้การลงทุนโดยใช้เงินงบประมาณภาครัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคนี้ได้อย่างยั่งยืน จึงต้องมีนวัตกรรมในการจัดหาเงินทุนจากนักลงทุนสถาบัน เอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณภาครัฐและเพื่อให้เอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จึงได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็น มุมมอง และประสบการณ์จากประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการเงินต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน โดยแบ่งการหารือออกเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

1) Green Finance เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น พันธบัตร หรือหลักทรัพย์ โดยมีความท้าทายในการทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในอาเซียน

2) Blended/Leveraged Finance เป็นการใช้เงินทุนจากภาครัฐเป็นตัวกระตุ้นการลงทุน ร่วมลงทุน และ/หรือ เป็นกลไกลดความเสี่ยงในช่วงเริ่มต้นดำเนินกิจการ เพื่อดึงดูดการลงทุนมูลค่าสูงจากเอกชน

3) Blue Bonds เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อใช้ในโครงการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งและทรัพยากร ทางทะเล

2. นวัตกรรมการระดมทุน ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน เช่น Thailand Future Fund และโครงการ SDG Indonesia One ของประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

3. แนวนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยสามารถสรุปข้อเสนอแนวนโยบายได้ 5 ข้อ ดังนี้

(1) พัฒนากรอบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public-Private Partnership: PPP)

(2) ส่งเสริมการเพิ่มความน่าเชื่อถือของตราสาร (Credit Enhancement) และเครื่องมือ ในการบริหารความเสี่ยงจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว

(3) ส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในอาเซียนให้เป็นมาตรฐาน เช่น การมีกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านนวัตกรรมทางอาเซียน เป็นต้น

(4) ดำเนินโครงการนำร่อง (Pilot Projects) ที่ใช้นวัตกรรมทางการเงินในภาคส่วนต่าง ๆ

(5) สร้างความตระหนักถึงนวัตกรรมทางการเงิน และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับนวัตกรรม ทางการเงินในอาเซียน

ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance and Central Bank Deputies' Working Group Meeting: AFCDM-WG) และคณะทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบอาเซียน ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-16 กุมภาพันธ์ 2562 ณ กรุงเทพฯ