วศ. ร่วมสร้างความเชื่อมั่นประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบไบโอดีเซล B100

28 Nov 2019
กรมวิทยาศาสตร์บริการให้ความสำคัญการยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบของประเทศให้มีความน่าเชื่อถือ มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยได้มอบหมายผู้แทนนางสาววัชรี คตินนท์กุล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม กองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภคและคณะเข้าร่วมประชุมสรุปกิจกรรมการเปรียบเทียบผลทดสอบระหว่างห้องปฏิบัติการทดสอบน้ำมันไบโอดีเซล (B100 Laboratory Correlation Program) ครั้งที่ 26 เป้าหมายยกระดับการประกันคุณภาพภายนอกของห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ซึ่งจัดโดยสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีผู้เข้าร่วมงานจากภาครัฐและเอกชนจำนวนกว่า 70 คน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์
วศ. ร่วมสร้างความเชื่อมั่นประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบไบโอดีเซล B100

การประชุมครั้งนี้หน่วยงานที่จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญของห้องปฏิบัติการทดสอบไบโอดีเซล B100 มีประเด็นการดำเนินงานที่สำคัญในการจัดเตรียมตัวอย่าง การศึกษาความเป็นเนื้อเดียวกันและความคงตัว เพื่อให้มั่นใจถึงคุณลักษณะของตัวอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก่อนจัดส่งตัวอย่างให้ห้องปฏิบัติการสมาชิกทำการทดสอบตามวิธีมาตรฐานข้อกำหนดลักษณะและคุณภาพของไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน และประเมินผลโดยวิธีทางสถิติตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043 และสรุปกิจกรรมการเปรียบเทียบผลทดสอบระหว่างห้องปฏิบัติการ รวมทั้งมีการบรรยายวิชาการเรื่อง "Comparison of Various Techniques for Cloud Point Determination" และสาธิตการใช้เครื่องมือ แสดงถึงเทคโนโลยีการวิเคราะห์ทดสอบที่ทันสมัย ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบของประเทศไทยทั้งในด้านคุณภาพและเทคโนโลยี

ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยกองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค มีห้องปฏิบัติการกลุ่มเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ ทดสอบ ให้คำปรึกษาและเสนอแนะทางวิชาการมาตรฐานด้านเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการเปรียบเทียบผลทดสอบระหว่างห้องปฏิบัติการที่ทดสอบน้ำมันไบโอดีเซล B100 ในประเทศไทย เป็นการประเมินความสามารถทั้งวิธีทดสอบ ผลการทดสอบและบุคลากรในห้องปฏิบัติการ ให้มีความน่าเชื่อถือและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งผลต่อการยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบของประเทศให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลต่อไป