ม.มหิดล เปิดให้บริการทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพเภสัชภัณฑ์มาตรฐาน ISO/IEC 17025 สนองนโยบายพัฒนาชาติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          ปี 2563 เป็นปีที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะมีอายุครบรอบ 52 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีบทบาทสำคัญในการผลิตบัณฑิตให้เป็นเภสัชกรที่มีคุณภาพ ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง
          รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงมัลลิกา ชมนาวัง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะฯ มีพันธกิจหลักในการผลิตและเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นศูนย์กลางให้บริการวิชาการด้านยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหารที่มีมาตรฐานในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดศูนย์บริการประชาชน ทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาต่างๆ เช่น ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน จำนวน 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทางผิวหนัง (MUPY-DTC) และศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ (MUPY-CAPQ) อีก 3 ฝ่าย ได้แก่ เคมี สมุนไพร และจุลชีววิทยา
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรวีรวัฒน์ ตีรณะชัยดีกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรองหัวหน้าศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทางผิวหนัง (MUPY-DTC) กล่าวว่า เครื่องสำอางเป็นสินค้าที่มีบทบาทมากในปัจจุบัน โดยเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่จะซื้อสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตจากต่างประเทศ และยังขาดแคลนหน่วยงานของรัฐในการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสากล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดตั้ง ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทางผิวหนัง (MUPY-DTC) ขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้บริการประชาชนใน 4 ด้าน คือ การทดสอบประสิทธิภาพเครื่องสำอาง ทั้งในเรื่องการลดเลือนริ้วรอย และการเพิ่มความขาวใส อีกทั้งทดสอบความปลอดภัย เพื่อประเมินการแพ้และการระคายเคือง โดยมีการทดสอบทั้งในอาสาสมัคร และในหลอดทดลอง จากเนื้อเยื่อผิวหนังมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ และทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์กันแดดอีกด้วย ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้กับประชาชนผ่านสื่อต่างๆ โดยในอนาคตจะมีการยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการให้สามารถทดสอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทางผิวหนังที่ขยายขอบเขตเพื่อตอบโจทย์ที่ครอบคลุมความต้องการของประชาชนต่อไป เปิดให้บริการ ณ อาคารวิจัยประดิษฐ์หุตางกูร ชั้น 3 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
          ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ (MUPY-CAPQ) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นศูนย์กลางในการให้บริการวิเคราะห์คุณภาพยา สมุนไพร และจุลชีววิทยาของเภสัชภัณฑ์เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีการนำนโยบายคุณภาพ Good Laboratory Practice (GLP) และ ISO/IEC 17025 มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการวิเคราะห์ การบริหารงานให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล
          CAPQ เคมี เป็น CAPQ ฝ่ายแรกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงปิยนุช โรจน์สง่า หัวหน้าฝ่าย CAPQ เคมี เล่าว่า
          ในระยะแรก CAPQ เคมี เปิดให้บริการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ยาเป็นหลัก ต่อมาได้ขยายขอบเขตให้บริการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และอาหารเสริมด้วย ซึ่งการวิเคราะห์ยาจะมีลักษณะเหมือนเป็นโมโนกราฟซึ่งไม่ได้เขียนรายละเอียดอะไรมากนักเพราะฉะนั้นผู้วิเคราะห์จะต้องมีประสบการณ์พอสมควรในการตีความ เพื่อที่จะนำไปสู่กระบวนการปฏิบัติได้จริง จึงเป็นที่มาว่าทำไมการวิเคราะห์ยาบางรายการถึงต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง และสารเคมีที่ใช้ก็จะต้องได้ตามมาตรฐาน ซึ่ง CAPQ เคมีเราสามารถทำได้ตรงตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ทั่วโลก
          โดยในอนาคตจะมีการขยายงานไปในส่วนของการวิเคราะห์สารปนเปื้อนต่างๆ ในเภสัชภัณฑ์ และอาหารเสริมด้วย CAPQ เคมี เปิดให้บริการ ณ ห้อง 512 ชั้น 5 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
          ด้าน CAPQ สมุนไพร เกิดขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ด้านการส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยให้เกิดประโยชน์และยั่งยืน เมื่อประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงวีณา สาธิตปัตติพันธ์ หัวหน้าฝ่าย CAPQ สมุนไพร กล่าวว่า สมุนไพรไทยจะยั่งยืนได้ ก่อนอื่นจะต้องทำให้มีคุณภาพ ซึ่งสมุนไพรจะไม่เหมือนสารเคมีตรงที่คุณภาพของสมุนไพรจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องของฤดูกาล และขั้นตอนการเก็บเกี่ยว หากเราสามารถทำให้สมุนไพรไทยมีคุณภาพที่สม่ำเสมอ และยั่งยืนจะสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรจึงเป็นเรื่องสำคัญ CAPQ สมุนไพร เปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในผลิตภัณฑ์สมุนไพร ณ ห้อง 501 ชั้น 5 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
          มาที่ CAPQ จุลชีววิทยา หรือ CAPQ-MICRO ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรกฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี หัวหน้า CAPQ-MICRO กล่าวแนะนำว่า เป็นหน่วยงานที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยาของสมุนไพร ยาแผนโบราณ และเครื่องสำอางสมุนไพร ตลอดจนบริการให้ความรู้ทางวิชาการแบบ on site service ทั้งการบรรยายและการปฏิบัติ ซึ่งผลจากการตรวจวิเคราะห์สามารถนำเอาไปใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนได้ โดยใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ในรายการทั่วไป และ 6 สัปดาห์สำหรับรายการที่ต้องการการทดสอบประสิทธิภาพของสารกันเสียร่วมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรกฤษณ์ ได้แนะนำผู้บริโภคในการเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ปลอดภัยจากเชื้อปนเปื้อนว่า ที่สำคัญที่สุดให้ดูที่ตรา อย. และบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน และควรเก็บรักษาสมุนไพรในที่แห้งและอากาศถ่ายเท ซึ่งเชื้อก่อโรคไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ CAPQ-MICRO เปิดให้บริการ ณ ห้อง 401 ชั้น 4 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
          MUPY-DTC และ MUPY-CAPQ เคมี/สมุนไพร/จุลชีววิทยา ดำเนินงานด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมั่นใจได้ว่าผลการวิเคราะห์และข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ถูกต้องแน่นอน จากผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้านการเรียนการสอน และการวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ระดับชาติและนานาชาติตลอดเวลา 52 ปีที่ผ่านมา
          ผู้สนใจติดต่อได้ที่ โทร. 0-2644-8694 (MUPY-DTC) 0-2354-4320 (MUPY-CAPQ) www.pharmacy.mahidol.ac.th
 
 

ข่าวงานวิจัยและนวัตกรรม+มหาวิทยาลัยมหิดลวันนี้

ม.มหิดล คว้ารางวัลผลงานวิจัย High Impact ปี 2567 ในมหกรรม TRIUP FAIR 2024 ชูพลังสร้างนวัตกรรมแห่งปี

ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัล 'ผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูง ประจำปี 2567 Prime Minister's TRIUP Award for Research Utilization with High Impact 2024' ในงาน TRIUP FAIR 2024 มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เป็นต้นแบบของผลงานที่สามารถถูกนำไปใช้ในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 องค์การอุตสหกรร... อ.อ.ป. ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ ในหัวข้อ "Carbon Credit โอกาสทางธุรกิจ เพื่อการฟื้นฟูโลก" — เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 องค์การอุตสหกรรมป่าไม้ โดยนายชาญณรง...

สกสว. สวทช. รุกปั้นกลุ่ม "ผู้จัดการงานวิจ... สกสว. - สวทช. รุกปั้นกลุ่ม "ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม" หนุนระบบบุคลากร — สกสว. สวทช. รุกปั้นกลุ่ม "ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม" หนุนระบบบุคลากร วิทย์ไ...