ก.แรงงาน อัพสกิลสตรี สร้างความเสมอภาคด้านแรงงาน

18 Jun 2020

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ ILO ฝึกทักษะสตรีในสถานประกอบกิจการ เสริมคุณภาพให้แรงงาน ต่อยอดการผลิต

ก.แรงงาน อัพสกิลสตรี สร้างความเสมอภาคด้านแรงงาน

นายธวัช  เบญจาทิกุล  อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พัฒนาศักยภาพแรงงานสตรีในสถานประกอบกิจการ เนื่องจากการเลิกจ้างงานในสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้กลุ่มแรงงานสตรีได้รับผลกระทบก่อนแรงงานประเภทอื่นๆ เพื่อลดช่องว่างทักษะระหว่างชายหญิง ป้องกันผู้หญิงไม่ให้สูญเสียงานอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ช่วยยกระดับศักยภาพของสตรีให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ

นายธวัช  กล่าวต่อไปว่า ปี 2563 กพร.มีเป้าหมายฝึกอบรมให้แก่กลุ่มสตรีในภาคอุตสาหกรรม จำนวน 694 คน ใน 2 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ 350 คน และชลบุรี 344 คน โดยมอบหมายให้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ (สพร.1 สมุทรปราการ) และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี (สพร.3 ชลบุรี) ฝึกอบรมให้แก่แรงงานสตรีในสถานประกอบกิจการที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นฐาน และมีทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์ เข้าอบรมในหลักสูตร การวิเคราะห์ข้อมูลและการนำเสนอเพื่อกระบวนการผลิต (Data Analysis and Presentation) ระยะเวลา 36 ชั่วโมง โดยผู้เข้าฝึกอบรมจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม Microsoft Excel และการนำเสนอข้อมูลด้วยโปรแกรม Microsoft  Power Point โดยเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปใช้เป็นข้อเสนอแนะและรายงานผลในกระบวนการผลิต ปัจจุบัน สพร.3 ชลบุรี เริ่มดำเนินการฝึกอบรมแล้ว โดยรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-15 มิ.ย.63 ณ บริษัท ไทยไดโซ แอโรโซล จำกัด และมีเป้าหมายฝึกในบริษัทแห่งนี้ จำนวน 200 คน

นางสาวฉัตรรัตน์  พรหมมาลา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบุคคลและธุรการ บริษัท ไทยไดโซ แอโรโซล จำกัด กล่าวว่า บริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์ประทินผิวร่างกาย มีพนักงานทั้งหมด 886 คน พนักงานส่วนใหญ่เป็นสตรีถึง 687 คน จึงต้องการพัฒนาทักษะให้พนักงานสตรีมีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพนักงานสตรีที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอผลงานที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตได้ โดยคัดเลือกพนักงานในแต่ละแผนกที่มีพื้นฐานการใช้งานคอมพิวเตอร์ และประสงค์จะฝึกทักษะ ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับแผนการผลิตและแผนการทำงานของแต่ละแผนกด้วย

“การพัฒนาศักยภาพแรงงานสตรี จึงเป็นการเพิ่มผลิตภาพองค์กร ลดการสูญเสียตำแหน่งงานของแรงงานสตรีที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับกระบวนการผลิตที่เน้นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคตซึ่งช่วยให้พนักงานสตรีมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น และสามารถทำงานในตำแหน่งอื่นได้หลากหลายมากขึ้นด้วย” อธิบดี กพร.กล่าวทิ้งท้าย