การดื้อยาต้านจุลชีพ หายนะร้ายใกล้ตัวที่หยุดปัญหาได้ด้วยความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด "สุขภาพหนึ่งเดียว"

22 Sep 2022

การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นทำให้ปัญหาเชื้อดื้อต่อยาต้านจุลชีพทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจในระดับโลก ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับทั้งการใช้ยาในคน ในสัตว์ และสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างมีประสิทธิผลจึงควรเกิดจากความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งด้วยการบูรณาการภายใต้แนวคิด "สุขภาพหนึ่งเดียว"

การดื้อยาต้านจุลชีพ หายนะร้ายใกล้ตัวที่หยุดปัญหาได้ด้วยความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด "สุขภาพหนึ่งเดียว"

นายแพทย์เรืองวิทย์ ธรรมอารี ผู้จัดการอาวุโส แผนกการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในการอภิปรายหัวข้อ "Combating a Silent Pandemic: Antimicrobial Resistance" ระหว่างงานประชุม SEAOHUN 2022 International Conference ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ว่า "การดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลต่อระบบสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจโลก โดยตัวเลขจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ชี้ให้เห็นว่าหากปราศจากการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงทีแล้ว ในระหว่างปี พ.ศ. 2558 - 2593 จะมีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์เชื้อดื้อยาในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย รวมกันสูงถึง 2.4 ล้านคน ซึ่งหากมองปัญหาในเชิงลึกจะพบว่า สถานการณ์โรคระบาดไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่ในอนาคต ล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อดื้อยา ต้านจุลชีพ ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มากมายได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ โดยประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราร่วม ซึ่งในจำนวนนี้บางส่วนก็ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ"

"การควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม (Antimicrobial Stewardship) คือ การบูรณาการเวชปฏิบัติเพื่อให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี การจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่ต้องคำนึงถึงทั้งชนิดของยา ขนาดยา และระยะเวลาในการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และโรคที่เป็น จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน การจัดการกับปัญหา  การดื้อยาต้านจุลชีพในคน จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการหลากหลายกระบวนการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้ การวินิจฉัย การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล  การควบคุมโรค รวมทั้งการใช้วัคซีนในการป้องกันโรค การลงทุนในด้านการวิจัย และพัฒนาเครื่องมือ  และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาได้อย่างยั่งยืน องค์การอนามัยโลก และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา คาดว่าหากสามารถดำเนินการตามมาตราการดังกล่าวได้ก็จะสามารถช่วยชีวิตคนได้กว่า 1.6 ล้านคน ภายในปี 2593 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง  4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี" นายแพทย์เรืองวิทย์ กล่าวสรุป