สศก. ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา

04 Aug 2023

สศก. ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา แหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเกษตรกรรม และระบบนิเวศครบครัน

สศก. ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา (เขื่อนห้วยโสมง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553 ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วไปกว่า 91% และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี 2567 ลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน มีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขาในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ใช้เป็นแหล่งน้ำด้านการอุปโภค-บริโภค และการประปา รักษาระบบนิเวศ และผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง อีกทั้งใช้อ่างเก็บน้ำเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาสการเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้

สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามการใช้ประโยชน์ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 พบว่า ในปีเพาะปลูก 2565/2566 (พฤษภาคม 2565 - เมษายน 2566) สามารถจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งได้ถึง 209 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนในช่วงฤดูฝนจัดสรรน้ำได้ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ และเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ ผลไม้ นาข้าว และบ่อปลา จำนวน 1,775 ไร่ นอกจากนี้ ยังใช้น้ำเพื่อชะลอความเค็มในลุ่มน้ำบางปะกงในช่วงฤดูแล้ง 205 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ โครงการฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ เช่น ผลกระทบจากการขุดและถมพื้นที่เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ การสูญเสียพื้นที่ดินและทรัพยากรดินบางส่วนเพื่อใช้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเดิมของดินในกิจกรรมก่อสร้างโดยเกษตรกรภายใต้แผนดังกล่าว จะได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมพัฒนาอาชีพการผลิตแบบเกษตรผสมผสาน รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยเมื่อติดตามผลแต่ละด้าน พบว่า

ด้านเศรษฐกิจ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร พร้อมสนับสนุนพันธุ์ไม้ ปุ๋ยคอก และปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูกพืชทางเลือกใหม่ ด้านกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการป้องกันการเสื่อมโทรมของดินในพื้นที่ชลประทาน โดยส่งเสริมการปรับปรุงดิน และการพัฒนาเกษตรกรด้านการพัฒนาที่ดิน พร้อมสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ในการทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ กรมประมง ดำเนินการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และการส่งเสริมการเลี้ยงปลา เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในช่วงฤดูปลามีไข่ พร้อมสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหาร ส่งผลให้เกษตรกรร้อยละ 23 มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำปัจจัยการผลิต อาทิ ไม้ผล ปลาดุก โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5,921 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และเกษตรกรร้อยละ 25 สามารถลดรายจ่าย จากการนำผลผลิตมาบริโภคในครัวเรือน ได้เฉลี่ย 1,922 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และร้อยละ 78 สามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงได้เฉลี่ย 7,044 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งมาจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองทดแทนปุ๋ยเคมี การใช้สารชีวภัณฑ์แทนการใช้สารสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และได้รับสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากหน่วยงาน ด้านสังคม เกษตรกรร้อยละ 28 มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมทางการเกษตร เช่น กลุ่มแปรรูปและผลิตอาหารปลา กลุ่มไม้ผล กลุ่มปุ๋ยหมัก และกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ และเกษตรกรร้อยละ 80 มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในชุมชน เช่น การปลูกต้นไม้ในชุมชน ปล่อยปลาลงเขื่อน ร่วมพัฒนาหมู่บ้าน และ ด้านสิ่งแวดล้อมเกษตรกรร้อยละ 72 ลดการใช้สารเคมีในการผลิต และร้อยละ 81 ใช้อินทรียวัตถุเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินช่วยให้ดินมีธาตุอาหารเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในภาพรวมเกษตรกรร้อยละ 94 พอใจต่อการดำเนินงานของโครงการ และมีความตั้งใจทำกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปเผยแพร่/ขยายผลให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง การใช้ประโยชน์จากโครงการยังไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ และในส่วนกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าติดตาม ให้คำแนะนำเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรภายหลังได้รับประโยชน์จากน้ำชลประทานต่อไป

สศก. ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา