ม.มหิดลพบครั้งแรก สารสกัดจาก'เมล็ดงาม้อน'ต้านอักเสบต้านการก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่

18 Sep 2023

"เมล็ดงาม้อน" (Perilla seed) ในแวดวงอาหาร ปัจจุบันนิยมใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของ "ซุปเปอร์ฟู้ด" (Superfood) เพื่อสุขภาพที่หลากหลาย จุดเด่นที่ทำให้ผู้บริโภค "ยกนิ้ว" ได้แก่ "สารสำคัญ" ซึ่งอุดมไปด้วย "กรดไขมัน" ที่ช่วยบำรุงสมอง และต้านอนุมูลอิสระ

ม.มหิดลพบครั้งแรก สารสกัดจาก'เมล็ดงาม้อน'ต้านอักเสบต้านการก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่

ครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยองค์ความรู้อันเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล จาก "งานวิจัยคุณภาพ" ได้ทำให้ "เมล็ดงาม้อน" เพิ่มค่าทั้งในด้านการแพทย์ และการเกษตร จากการค้นพบฤทธิ์ต้านอักเสบก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่

รองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้า "โครงการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์น้ำมันสกัดจากเมล็ดงาม้อนในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เกิดลำไส้อักเสบในหนูทดลอง" ด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ภายใต้โครงการ การบริหารจัดการเพื่อพัฒนา RAINS for Thailand Food Valley ภาคกลาง โดยมหาวิทยาลัยมหิดล : เกษตรกรรมไทยเพื่อความมั่นคงด้านโภชนาการและสุขภาพ

โดยได้เปิดเผยถึงที่มาของงานวิจัยว่า เกิดจากการตระหนักถึงสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งทำให้ประชากรไทยและทั่วโลกเสียชีวิตในอันดับต้นๆ สาเหตุสำคัญเกิดจาก"ท้องผูกเรื้อรัง" ทำให้เกิด "การอักเสบ" ของลำไส้จนเกิดการเปลี่ยนสภาพ ส่งผลให้แบคทีเรียที่เกาะติดผนังลำไส้ "ขาดสมดุล" "เกิดเนื้องอก" จนกลายเป็น "โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่"

ผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดงาม้อนสกัดด้วยกรรมวิธีสกัดเย็นจากโครงการวิจัย ได้นำไปสู่การค้นพบครั้งแรกในห้องปฏิบัติการที่ว่า น้ำมันสกัดจากเมล็ดงาม้อนมีฤทธิ์ "ต้านอนุมูลอิสระ" จากสารสำคัญต่างๆ เช่น "โทโคเฟอรอล" (Tocopherol) "โพลีฟีนอล" (Polyphenol) และยังอุดมไปด้วย "กรดไขมันโอเมก้า" (Omega) ถึง 3 ชนิด ได้แก่ 3, 6, 9 ในสัดส่วนที่ดีต่อสุขภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Omega 3 ที่มีสูงที่สุดในแหล่งที่มาจากพืช ซึ่งเมื่อนำมาทดสอบกับหนูทดลองที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบว่าสามารถ "ลดการอักเสบ" "ปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้" "เสริมสร้างความแข็งแรงของผนังลำไส้" ป้องกันการเกิด "ก้อนเนื้องอก" ในลำไส้ใหญ่ ก่อนพัฒนากลายเป็นมะเร็ง

สำหรับแนวทางการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ รองศาสตราจารย์ดร.เอกราช เกตวัลห์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว ยังส่งผลดีต่อภาคเกษตรของชาติ เนื่องจาก "งาม้อน" มากด้วยคุณประโยชน์ จึงอาจทำให้เกิดความยั่งยืนด้วยการพัฒนาสู่การเป็น "พืชเศรษฐกิจ" ที่สำคัญของประเทศได้ต่อไปในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งปลูกงาม้อนได้ผลดี คาดว่าในอีกประมาณ 1 - 2 ปีข้างหน้า จะได้ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภท "น้ำมันแคปซูล" และยังได้มองไปถึงการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่นๆ ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพอีกอาทิ "ครีมสลัดผสมน้ำมันสกัดงาม้อน" เป็นต้น

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ ยังได้แนะนำประชาชนทั่วไปถึง "วิธีบริโภคงาม้อนอย่างไรให้ได้ประโยชน์" ทิ้งท้าย หากอยู่ในรูปของ "เมล็ด" จะมีโปรตีนและแร่ธาตุเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย สามารถ "บริโภคเพื่อสุขภาพ" ประมาณ 3 - 5 ช้อนโต๊ะต่อวัน แต่หากอยู่ในรูปของ"น้ำมัน" ควรรับประทานประมาณ 2 - 3 ช้อนโต๊ะต่อวันเป็นปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรรับประมาณมากเกินไป เนื่องจากอาจเกิด "การสะสม" ของไขมันและพลังงานเช่นเดียวกับน้ำมันชนิดอื่นๆ

ติดตามข่าวสารที่สนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่www.mahidol.ac.th

ม.มหิดลพบครั้งแรก สารสกัดจาก'เมล็ดงาม้อน'ต้านอักเสบต้านการก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่