ม.มหิดล-ม.ในสหพันธรัฐสวิส สร้าง AI ครูฝึกทักษะเขียนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ

20 Jul 2023

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วางแผนยุทธศาสตร์ 19 ปี (พ.ศ. 2561 - 2579) มีวิสัยทัศน์ "เป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ในระดับโลก" มุ่งสร้างสรรค์ผลิตบัณฑิต และงานวิจัยทางการศึกษาที่มีคุณภาพ

ม.มหิดล-ม.ในสหพันธรัฐสวิส สร้าง AI ครูฝึกทักษะเขียนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ

ในปี พ.ศ. 2566 สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 73 ของ Asia Pacific และเป็นอันดับที่ 1 ในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปี จากการจัดอันดับของ "SciVal" โปรแกรมวิเคราะห์ -ค้นหางานวิจัย โดยสำนักพิมพ์ Elsevier ในหัวข้อการศึกษาในฐานข้อมูลScopus ซึ่งเป้าหมายต่อไปของการก้าวขึ้นสู่ Top 100 ของโลกอยู่อีกไม่ไกล

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดเผยถึง หนึ่งในงานวิจัยคุณภาพที่นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยฯ ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" โดยได้รับทุน Swiss Programme for International Research by Scientific Investigation Teams (SPIRIT) ของSwiss National Science Foundation (SNSF) สมาพันธรัฐสวิส

ภายใต้ชื่อโครงการ "Next Generation of Digital Support for Fostering Students' Academic Writing Skills : A Learning Support System based on Machine Learning (ML)" ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (พ.ศ. 2565 - 2568)

โครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และ University of St. Gallen (HSG) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของสมาพันธรัฐสวิส ที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการการจัดการ เศรษฐศาสตร์กฎหมาย สังคมศาสตร์ การต่างประเทศ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เพื่อมุ่งวิจัยและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล

ซึ่งตรงตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ข้อที่ 4 เพื่อการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) ข้อที่ 5 เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) และข้อที่ 10 ลดความไม่เสมอภาค (Reduced Inequalites)

ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ รองศาสตราจารย์ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย และทีมวิจัย โดยความร่วมมือกับนักวิจัยจาก University of St. Gallen (HSG) สหพันธรัฐสวิส ออกแบบเป็น Web-based Software ที่ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้เรียน ด้วยเทคนิค Supervised Learning ที่เหมือนมีครูมาคอยช่วยชี้แนะ

เมื่อใส่ข้อมูลลงไปในซอฟต์แวร์ โปรแกรมจะประมวลผลโดยเทียบกับ "ข้อมูลติดฉลาก" (Data Labeling) ที่ทางทีมวิจัยฝึก AI ให้เรียนรู้ (Machine Learning) เพื่อคัดแยกประเด็นในการเขียนออกมาเป็น "ประเด็นหลัก" (Main Idea) และ"ประเด็นรอง" (Supporting Idea) ทั้งในเชิงสนับสนุน และโต้แย้ง (Pros & Cons) แสดงเป็นลำดับผ่านภาพกราฟิกให้เห็นโดยอัตโนมัติ

ด้วย "AI ครูฝึกทักษะเขียนเชิงวิชาการ" ที่คิดค้นขึ้นโดยสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และUniversity of St. Gallen (HSG) สมาพันธรัฐสวิส นี้ เชื่อมั่นว่าจะช่วยทำให้การเขียนงานวิจัยที่ต้องอาศัยเทคนิค และการมีแบบแผน เป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับคนไทย และผู้เรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2

โปรแกรมนี้ได้ผ่านการทดสอบแล้วในเบื้องต้นจากชั้นเรียน"การเขียนเชิงวิชาการ" (Academic Writing) ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล คาดว่าหลังจากการพัฒนาปรับปรุงจนได้ซอฟต์แวร์ที่สมบูรณ์ จะสามารถเปิดให้ใช้ต่อไปในวงกว้างโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ในอีกประมาณปีเศษข้างหน้า

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ม.มหิดล-ม.ในสหพันธรัฐสวิส สร้าง AI ครูฝึกทักษะเขียนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ