ดีพีเวิลด์ยกงานวิจัย แนะเพิ่มอุณหภูมิอาหารแช่แข็งเพียงสามองศา จาก -18 เป็น -15 องศาเซลเซียส ก็ลดการปล่อยคาร์บอนได้แล้ว

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

อุณหภูมิของอาหารแช่แข็งสามารถเปลี่ยนแปลงเพียง 3 องศา เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เทียบเท่ากับรถยนต์ 3.8 ล้านคันต่อปี งานวิจัยชี้

อาหารแช่แข็งส่วนใหญ่ขนส่งและเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นเมื่อ 93 ปีก่อนและไม่เคยเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การศึกษาวิจัยพบว่า การปรับเป็น -15 องศาเซลเซียสจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่บั่นทอนความปลอดภัยหรือคุณสมบัติของอาหาร

เหล่าผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ อาทิ สถาบันการทำความเย็นระหว่างประเทศ (International Institute of Refrigeration) ในปารีส มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) และมหาวิทยาลัยลอนดอน เซาธ์ แบงก์ (London South Bank University) และที่อื่น ๆ พบว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยนี้สามารถส่งผลดังต่อไปนี้

  • ลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 17.7 ล้านเมตริกตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซของรถยนต์ 3.8 ล้านคันต่อปี
  • ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานราว 25 เทระวัตต์ชั่วโมง(TW/h) ซึ่งเทียบเท่ากับ 8.63% ของการบริโภคพลังงานต่อปีในสหราชอาณาจักร
  • ลดต้นทุนในห่วงโซ่อุปทานได้อย่างน้อย 5% และในบางด้านได้ถึง 12%

การศึกษาวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนโดยบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำระดับโลกและพันธมิตรรายหลักใน COP28 ได้แก่ ดีพีเวิลด์ (DP World) ซึ่งได้จัดตั้งแนวร่วมที่ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยใช้ชื่อว่า ร่วมมุ่งสู่ -15 องศาเซลเซียส (Join the Move to -15?C)

แนวร่วมดังกล่าวนี้มุ่งที่จะปรับเปลี่ยนมาตรฐานอุณหภูมิอาหารแช่แข็งเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ลดต้นทุนในห่วงโซ่อุปทาน และสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรอาหารสำหรับประชากรโลกที่กำลังขยายตัว

ขณะนี้มีองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมเข้าร่วมในแนวร่วมนี้แล้ว ประกอบด้วย เอเจซี กรุ๊ป (AJC Group) จากสหรัฐฯ, เอ.พี. โมลเลอร์ - เมอส์ก (A.P. Moller - Maersk) หรือเมอส์ก จากเดนมาร์ก, ไดกิน (Daikin) จากญี่ปุ่น, ดีพีเวิลด์, พันธมิตรการขนส่งรักษาความเย็นระดับโลก (Global Cold Chain Alliance), คูห์เน่ พลัส นาเกิ้ล อินเตอร์เนชันแนล (Kuehne + Nagel International) จากสวิตเซอร์แลนด์, ลีนิจ (Lineage) จากสหรัฐฯ, เมดิเตอร์เรเนียน ชิปปิง คอมปานี (Mediterranean Shipping Company หรือ MSC) จากเจนีวา และ โอเชียน เน็ตเวิร์ก เอ็กซ์เพรส (Ocean Network Express หรือ ONE) จากสิงคโปร์

คุณมาฮา อัลคัตทาน (Maha AlQattan) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนประจำเครือของดีพีเวิลด์ กล่าวว่า "มาตรฐานอาหารแช่แข็งไม่ได้รับการปรับปรุงมาเป็นเวลาเกือบศตวรรษแล้ว จึงควรมีการทบทวนแก้ไขมานานแล้ว

"การเพิ่มอุณหภูมิเล็กน้อยสามารถก่อประโยชน์ได้ใหญ่หลวง แต่ไม่ว่าองค์กรแต่ละแห่งจะทุ่มเทจริงจังเพียงใด อุตสาหกรรมนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยการร่วมมือกันเท่านั้น

"ด้วยการศึกษาวิจัยนี้ ประกอบกับแนวร่วมที่จัดตั้งขึ้นใหม่ของเรา เรามุ่งที่จะสนับสนุนการทำงานร่วมกันในทั่วทั้งอุตสาหกรรมเพื่อหาหนทางที่ปฏิบัติได้จริงในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันของอุตสาหกรรม ว่าด้วยการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

"มุ่งสู่ -15 องศาเซลเซียสจะพาให้อุตสากรรมนี้ได้ร่วมกันสำรวจมาตรฐานใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมนี้ในระดับโลก งานวิจัยนี้ทำให้เราเล็งเห็นว่าเราสามารถใช้เทคโนโลยีการเก็บรักษาที่เข้าถึงได้ในตลาดทุกแห่งเพื่อแช่แข็งอาหารในระดับอุณหภูมิที่ยั่งยืน พร้อมทั้งลดการขาดแคลนอาหารสำหรับชุมชนต่าง ๆ ทั้งที่เปราะบางและที่พัฒนาแล้ว"

สร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัว และเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

ในแต่ละปีมีการขนส่งอาหารปริมาณหลายร้อยล้านตันในทั่วโลก ตั้งแต่บลูเบอร์รี่ไปจนถึงบรอกโคลี

แม้ว่าการแช่แข็งอาหารช่วยยืดอายุการเก็บรักษา แต่ก็มาพร้อมกับต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่สูง เนื่องจากต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 2-3% สำหรับทุก ๆ องศาติดลบที่ใช้ในการเก็บรักษาอาหาร

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์กำลังดำเนินการเพื่อลดคาร์บอน โดยขณะนี้ยังเผชิญกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามความต้องการอาหารแช่แข็งกำลังเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการด้านอาหารพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในประเทศกำลังพัฒนา และผู้บริโภคที่มีสำนึกด้านราคามุ่งแสวงหาอาหารที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการในราคาที่เข้าถึงได้มากกว่า

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญประมาณว่า 12% ของอาหารที่ผลิตขึ้นต่อปีกลายเป็นของเหลือทิ้งเนื่องจากขาดระบบโลจิสติกส์ที่มีการทำความเย็นและแช่แข็งในอุตสาหกรรม ซึ่งเรียกว่า 'โคลด์เชน' (cold chain) หรือระบบขนส่งรักษาความเย็น ตอกย้ำความต้องการสมรรถภาพที่สูงขึ้นอย่างมาก

การศึกษายังชี้ว่ามีการทิ้งอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้ 1.3 พันล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตสำหรับบริโภคโดยมนุษย์ในระดับโลก

ความต้องการดังกล่าวนี้รุนแรงเป็นพิเศษในพื้นที่อย่างแอฟริกาใต้สะฮาราและอนุทวีป ตัวอย่างเช่น ในปากีสถานในปี 2565 มะม่วงที่สามารถส่งออกได้ต้องสูญไปเนื่องจากคลื่นความร้อนรุนแรง

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้อดอยากหิวโหยอยู่มากกว่า 820 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีผู้ประสบความไม่มั่นคงทางอาหาร 2 พันล้านคน ซึ่งเท่ากับราวหนึ่งในสี่ของประชากรโลก

อาจารย์โทบี ปีเตอร์ส (Toby Peters) จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมและมหาวิทยาลัยแฮเรียต-วัตต์ (Heriot-Watt University) และผู้อำนวยศูนย์การทำความเย็นที่ยั่งยืน (Centre for Sustainable Cooling) กล่าวว่า "ระบบขนส่งรักษาความเย็นเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมและเศรษฐกิจที่ดำเนินไปอย่างราบรื่น เนื่องจากรองรับการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ตลอดจนการมีสุขภาพที่ดี อีกทั้งยังรวมไปถึงความสามารถของเราในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งแบบรักษาความเย็น และการขาดโครงสร้างพื้นฐานเช่นนั้น มีนัยสำคัญสำหรับสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกรวนในระดับโลก"

เหตุการณ์ที่เกิดจากภาวะโลกรวน อย่างเช่น ภัยแล้ง อุทกภัย และคลื่นความร้อน สามารถลดผลผลิต อีกทั้งยังก่อผลเสียต่อสุขภาพและผลิตภาพของปศุสัตว์ แต่การแช่แข็งอาหารสามารถปกป้องแหล่งอาหารและคุณค่าทางโภชนาการได้เป็นเวลาหลายเดือนในระหว่างวิกฤตเหล่านั้น

ร่วมมุ่งสู่ -15 องศาเซลเซียส เป็นโครงการริเริ่มที่สร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยใช้เทคโนโลยีการเก็บรักษาที่เข้าถึงได้ในระดับโลกเพื่อแช่แข็งอาหารในระดับอุณหภูมิที่ยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อลดการขาดแคลนอาหารสำหรับชุมชนต่าง ๆ ทั้งที่เปราะบางและที่พัฒนาแล้ว

อาจารย์ปีเตอร์สกล่าวเสริมว่า "สหประชาชาติพยากรณ์ว่าจะมีประชากร 9.7 พันล้านคน ภายในปี 2593 เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะมีความสามารถในการเข้าถึงอาหาร เราจะต้องปิดช่องว่าง 56% ในห่วงโซ่อุปทานอาหารระดับโลก ระหว่างอาหารที่มีการผลิตในปี 2553 กับปริมาณอาหารที่จะเป็นที่ต้องการในปี 2593

"การลดการปล่อยคาร์บอนของโคลด์เชนและเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บรักษาและเคลื่อนย้ายอาหารอย่างปลอดภัยในวันนี้ ช่วยทำให้แน่ใจว่าเราสามารถจัดหาอาหารให้กับชุมชนทั่วโลกอย่างยั่งยืนต่อไป ขณะที่ประชากรและอุณหภูมิโลกต่างเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยปกป้องแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการไปอีกหลายต่อหลายปี

"เพื่อสานต่อจากงานวิจัยนี้ แนวร่วมของดีพีเวิลด์สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการพิชิตความท้าทายด้านอาหารในปัจจุบันเช่นกัน โดยมอบอุปทานอาหารมีคุณภาพที่มีเสถียรภาพสำหรับผู้หิวโหย 820 ล้านคนในทั่วโลก และมอบความมั่นคงสำหรับคนอีก 2 พันล้านคนที่กำลังประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร"

ขอเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการริเริ่ม ' ร่วมมุ่งสู่ -15 องศาเซลเซียส'

ดีพีเวิลด์ทำให้งานวิจัยนี้เข้าถึงได้สำหรับทุกคน และได้เชิญให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้นำในอุตสาหกรรม และผู้สนใจร่วมแสดงการสนับสนุนแคมเปญนี้

ดูข้อมูลเพิ่มเติม หรือเข้าร่วมโครงการริเริ่มดังกล่าวนี้ได้ที่เว็บไซต์ของดีพีเวิลด์

เกี่ยวกับดีพีเวิลด์

การค้าเป็นเหมือนโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิตของเศรษฐกิจโลก โดยสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับคนทั่วโลก ในแง่นี้ ดีพีเวิลด์ (DP World) ดำรงอยู่เพื่อทำให้การค้าในโลกไหลเวียนได้ดีขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับลูกค้าและชุมชนที่เราให้บริการในทั่วโลก

ด้วยทีมพนักงานมืออาชีพผู้อุทิศตนที่มีความหลากหลายจำนวนกว่า 103,000 คนใน 75 ประเทศในหกทวีป ดีพีเวิลด์ขยายพรมแดนของการค้าออกไปไกลกว่าเดิมและรวดเร็วมากขึ้น สู่ห่วงโซ่อุปทานที่ไร้รอยต่ออย่างสอดรับกับอนาคต ในเอเชียแปซิฟิก ดีพีเวิลด์มีพนักงานมากกว่า 7,000 คน อีกทั้งยังมีท่าเรือและท่าเทียบเรือใน 17 ตำแหน่งที่ตั้ง

เราดำเนินการเปลี่ยนแปลงและบูรณาการธุรกิจของเราอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย ท่าเรือและท่าเทียบเรือ บริการทางทะเล โลจิสติกส์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังผสานโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของเราเข้ากับความเชี่ยวชาญในท้องถิ่น เพื่อสร้างโซลูชันห่วงโซ่อุปทานครบวงจรที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีดำเนินการค้าของโลก

ยิ่งไปกว่านั้นเรายังร่วมสร้างอนาคตด้วยการลงทุนในนวัตกรรม ตั้งแต่ระบบการจัดส่งอัจฉริยะไปจนถึงการจัดเรียงสินค้าในโกดังอัตโนมัติ เราอยู่ในแนวหน้าของเทคโนโลยีที่พลิกผัน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมนี้ไปสู่วิถีการค้าที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้โดยลดความติดขัดชะงักงันให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ตั้งแต่จากพื้นโรงงานไปจนถึงประตูบ้านของลูกค้า

เราทำให้การค้าดำเนินราบรื่น
เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน


ข่าวประหยัดพลังงาน+สหราชอาณาจักรวันนี้

Microchip เปิดตัว MCU ตระกูล PIC16F17576 เพื่อลดความซับซ้อนในการออกแบบเซนเซอร์แอนะล็อก

อุปกรณ์ต่อพ่วงแอนะล็อกประหยัดพลังงานแบบบูรณาการช่วยลดต้นทุนการออกแบบและความซับซ้อน อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อบันทึกสัญญาณแอนะล็อกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะต้องตอบสนองได้อย่างรวดเร็วในขณะที่ใช้พลังงานน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้งานที่ใช้แบตเตอรี่ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ Microchip Technology (Nasdaq: MCHP) จึงได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ ไมโครคอนโทรลเลอร์ (MCU) PIC16F17576 ที่มีอุปกรณ์ต่อพ่วงประหยัดพลังงานแบบบูรณาการและความสามารถในการวัดสัญญาณแอนะล็อกที่มีความผันผวนได้อย่างแม่นยำ MCU

STA เร่งเครื่องสู่ Net Zero ลงทุนขยายการต... STA เร่งเครื่องสู่ Net Zero ลงทุนขยายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน — STA เร่งเครื่องสู่ Net Zero ลงทุนขยายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เทคโนโลยีป...

เดินหน้าสร้างการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน พ... CKPower สานต่อ "โครงการหิ่งห้อย" ปีที่ 8 เพิ่มโอกาสทางการศึกษา ส่งมอบอาคารห้องสมุดประหยัดพลังงาน — เดินหน้าสร้างการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน พร้อมปลูกฝังองค...

เอสซีจี นำเทรนด์นวัตกรรมคาร์บอนต่ำ ร่วมงา... เอสซีจี นำเทรนด์นวัตกรรมคาร์บอนต่ำ ร่วมงานสถาปนิก'68 ภายใต้แนวคิด "Seamless Quality Living" — เอสซีจี นำเทรนด์นวัตกรรมคาร์บอนต่ำ ร่วมงานสถาปนิก'68 ภายใต้แ...

มอบประสิทธิภาพ Gen-AI และ Agentic AI บนอุ... MediaTek เพิ่มประสิทธิภาพ AI เรือธงด้วยแพลตฟอร์มมือถือ Dimensity 9400+ — มอบประสิทธิภาพ Gen-AI และ Agentic AI บนอุปกรณ์สุดล้ำที่ประหยัดพลังงาน วันนี้ Medi...

มร.อเล็กซ์ มา รองประธานบริษัท บริษัท โตชิ... ตู้เย็น โตชิบา คว้า 2025 Thailand's Most Admired Brand 16 ปีซ้อน — มร.อเล็กซ์ มา รองประธานบริษัท บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ร่วมพิธีมอบรางวัล 2025 Thail...