"ฮีทสโตรก" ภัยเงียบที่มากับหน้าร้อน แพทย์จุฬาฯ แนะวิธีดูแลตนเองลดเสี่ยงจากโรคลมแดด

22 Apr 2024

ในช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิในบ้านเราสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ภัยเงียบที่มากับอากาศร้อนก็คือโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือออกกำลังกายในที่ที่มีอุณหภูมิสูงเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่อากาศร้อนเพิ่มขึ้นทุกปี คาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรกสูงขึ้นเรื่อย ๆ

"ฮีทสโตรก" ภัยเงียบที่มากับหน้าร้อน แพทย์จุฬาฯ แนะวิธีดูแลตนเองลดเสี่ยงจากโรคลมแดด

อ.นพ.อรรถสิทธิ์ โคมินทร์ ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า  ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดเป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการฮีทสโตรกเกิดจากการทำงาน ใช้แรงงาน หรือออกกำลังกายอย่างหนักในภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง มักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดฮีทสโตรก

ฮีทสโตรกเกิดจากสาเหตุหลักคือความร้อน การอยู่ในที่โล่งแจ้ง หรือในสถานที่ที่มีความร้อนมากเกินไปเป็นเวลานาน การถ่ายเทความร้อนที่ไม่ดี ใส่เสื้อผ้าที่หนาเกินไปทำให้ไม่สามารถระบายอากาศได้ดี การดื่มน้ำน้อย หรือดื่มเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้น การออกกำลังกายที่หนักและต่อเนื่อง และการปรับตัวของร่างกายไม่ทันเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง

สัญญาณเตือนและอาการฮีทสโตรก

อ.นพ.อรรถสิทธิ์เผยว่า ผู้ที่มีอาการฮีทสโตรกจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า อาการที่แสดงออกมามีหลากหลายตั้งแต่อาการน้อยไปถึงอาการมาก บางรายอาจจะไม่มีอาการหรือไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ มารู้ตัวอีกทีก็หมดสติไปแล้ว อาการส่วนใหญ่ที่พบ จะเริ่มจากรู้สึกร้อนมาก เวียนศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้อาเจียน ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ เหงื่อออกมากหรือไม่มีเหงื่อออก มีอาการชักเกร็ง และเป็นลมหมดสติ ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นฮีทสโตรกได้ง่ายๆ ก็คือผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดี เช่น ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด นักกีฬา เป็นต้น

การรักษาอาการฮีทสโตรก

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่มากและยังรู้สึกตัวควรนำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม ถอดเสื้อผ้าเพื่อระบายความร้อน ทำให้ผู้ป่วยมีอุณหภูมิเย็นลงด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น เป่าพัดลม วางถุงน้ำแข็งหรือผ้าเย็นที่เปียกบนศีรษะ คอ รักแร้ และขาหนีบ วางผู้ป่วยในอ่างน้ำเย็นหรือฝักบัวเย็น แล้วฉีดน้ำขณะรอรถพยาบาล กรณีที่ไม่สามารถทำให้ความร้อนลดลงได้จริง ๆ อาจต้องใช้วิธีการล้างท้องหรือการสวนปัสสาวะด้วยน้ำเกลือเย็นก็ได้

วิธีดูแลป้องกันตัวเองหลีกเลี่ยงฮีทสโตรก

อ.นพ.อรรถสิทธิ์ได้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมในที่โล่งแจ้งที่มีอากาศร้อนเป็นเวลานาน ๆ สวมเสื้อผ้าที่หลวมหรือบางเมื่อสัมผัสกับความร้อนหรือบริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก จิบดื่มน้ำบ่อย ๆ และให้เพียงพอเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้ปกติ สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายหากรู้สึกว่าเกิดความผิดปกติของร่างกายขณะออกกำลังกายควรหยุดพักทันที หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง

"หากพบเห็นผู้ที่มีอาการผิดปกติทางร่างกายเนื่องจากฮีทสโตรกโดยที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยพาผู้ป่วยเข้าที่ร่ม ถอดเสื้อผ้าเพื่อระบายความร้อน และเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินที่หมายเลข 1669 เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที" อ.นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

"ฮีทสโตรก" ภัยเงียบที่มากับหน้าร้อน แพทย์จุฬาฯ แนะวิธีดูแลตนเองลดเสี่ยงจากโรคลมแดด