กรมส่งเสริมการเกษตร ชี้ระยะนี้ทุเรียนเริ่มติดผล เตือนเกษตรกรระวังหนอนเจาะเมล็ด เพิ่มผลผลิตคุณภาพ

19 Feb 2024

นายพีรพันธ์  คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ทุเรียนเป็นหนึ่งในผลไม้สำคัญของไทยซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในช่วงระยะนี้ทุเรียนกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาผล กรมส่งเสริมการเกษตร จึงเตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทุกภาคในประเทศไทย เฝ้าระวังการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เนื่องจากเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของทุเรียน ตัวเต็มวัยของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเป็นผีเสื้อกลางคืนวางไข่เป็นฟองเดี่ยวบนผลทุเรียนในขณะที่ผลยังอ่อน เมื่อไข่ฟักเป็นหนอนจะเจาะรูเล็ก ๆ ที่สังเกตได้ยากเข้าไปกัดกินเมล็ดภายในผลทุเรียน ร่องรอยการทำลายผลทุเรียนจะไม่สามารถสังเกตจากภายนอกได้ โดยหนอนเจาะเข้าไปในผลทุเรียนแล้ว จะถ่ายมูลปะปนอยู่กับเนื้อทุเรียนทำให้เนื้อทุเรียนเสียคุณภาพ และเมื่อหนอนพร้อมเข้าดักแด้จะเจาะเปลือกให้เป็นรูเพื่อออกมา และทิ้งตัวลงบนพื้นดินเพื่อเข้าดักแด้ในดิน ซึ่งจะพบแต่รูไม่พบตัวหนอนบางครั้งพบความเสียหายเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จึงเรียกหนอนชนิดนี้ในอีกชื่อว่า "หนอนรู" เกษตรกรจึงควรหมั่นตรวจหาตัวศัตรูทุเรียนชนิดนี้นำไปทำลาย

กรมส่งเสริมการเกษตร ชี้ระยะนี้ทุเรียนเริ่มติดผล เตือนเกษตรกรระวังหนอนเจาะเมล็ด เพิ่มผลผลิตคุณภาพ

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนคือ ไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากแหล่งอื่นเข้ามาปลูก ถ้ามีความจำเป็นควรคัดเลือกเมล็ดอย่างระมัดระวังหรือแช่เมล็ดด้วยสารกำจัดแมลง เช่น มาลาไทออน83% ECอัตรา 40 มิลลิลิตร หรือคาร์บาริล85% WP อัตรา 50 กรัมโดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร เมื่อทุเรียนเริ่มติดผล ควรห่อผลระยะยาวโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่นขนาด 40 x 75 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยมาวางไข่ เจาะก้นถุงเพื่อระบายน้ำ และเริ่มห่อตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์ไปจนถึงเก็บเกี่ยว สำหรับการป้องกันกำจัดด้วยวิธีผสมผสาน โดยพ่นสารกำจัดแมลง ได้แก่ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% CS อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือคาร์บาริล 85% WPอัตรา 50 กรัม โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ และการใช้กับดักแสงไฟให้ใช้หลอด black light เพื่อล่อตัวเต็มวัยและจับมาทำลาย กรณีพบตัวเต็มวัยเริ่มระบาดให้ใช้สารคาร์บาริล85% WP อัตรา 50 มิลลิลิตร หรือเดลทาเมทริน 3% ECอัตรา 15 มิลลิลิตร หรือแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% CS อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือเบตา-ไซฟลูทริน 2.5% ECอัตรา 20มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

กรมส่งเสริมการเกษตร ชี้ระยะนี้ทุเรียนเริ่มติดผล เตือนเกษตรกรระวังหนอนเจาะเมล็ด เพิ่มผลผลิตคุณภาพ