แปลงร่างขยะอาหารสู่ปุ๋ยหมัก ลดก๊าซเรือนกระจก-ลดวิกฤตโลกร้อน

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

อาหารแต่ละมื้อ แต่ละวัน ที่เรากินเหลือ นอกจากจะกลายเป็นขยะอาหารแล้วยังเป็นตัวการก่อมลพิษให้กับโลกของเราอีกด้วย โดยขยะอาหารจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้หากจัดการไม่ถูกต้อง เนื่องจากเมื่อขยะอินทรีย์เกิดการย่อยสลายในสภาวะที่ไร้อากาศ จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้อากาศจะสร้างก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนถึง 28 เท่าเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ ขยะอาหารจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก รองจากการขนส่งทางถนน และการใช้ไฟฟ้าของบ้านเรือนประชาชน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า อาหาร 1 จานในมือเราที่กินเหลือ จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนโลกรวนก็เป็นได้

แปลงร่างขยะอาหารสู่ปุ๋ยหมัก ลดก๊าซเรือนกระจก-ลดวิกฤตโลกร้อน

วิกฤตขยะอาหารยังปรากฎในรายงานดัชนีขยะอาหาร (Food Waste Index Report 2021) ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme : UNEP) ยังมีการรายงานเกี่ยวกับสถานะของขยะอาหารทั่วโลก ปี 2562 ขยะอาหารเกิดขึ้นประมาณ 931 ล้านตัน หรือร้อยละ 17 ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตมาสำหรับการบริโภค คิดเป็นปริมาณเฉลี่ยเท่ากับ 121 กิโลกรัมต่อคนต่อปี มาจากครัวเรือนที่มีการทิ้งขยะอาหารประมาณ 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ผู้ประกอบอาหารประมาณ 32 กิโลกรัมต่อคนต่อปีและผู้จำหน่ายอาหารประมาณ 15 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยในส่วนของประเทศไทยมีการผลิตขยะอาหารเท่ากับ 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ขยะอาหารล้นทะลักขนาดนี้ แต่ยังมีวิธีลดขยะอาหารในรูปแบบของการนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก นั่นคือ การนำไปทำปุ๋ยหมัก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการจัดการขยะอาหารที่เริ่มได้จากในครัวเรือนของเรา และเป็น 1 วิธีการลดขยะอาหารที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้รวบรวมไว้ในแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยขยะอาหารที่สามารถนำมาทำปุ๋ยหมักได้นั้นจะต้องเป็นขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้เท่านั้น เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ เศษเนื้อสัตว์ เป็นต้น ส่วนที่ไม่ควรนำมาใช้ทำปุ๋ยหมัก เช่น กระดูก มูลสัตว์ ถุงหรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ หรือวัชพืชที่มีเมล็ด เหล่านี้ควรแยกออกมาเพื่อนำไปกำจัดแบบฝังกลบแทน ทั้งนี้เมื่อเราคัดแยกขยะอาหารที่จะนำไปทำปุ๋ยหมักแล้ว จำเป็นจะต้องลดขนาดของขยะอาหารให้เหลือราว 0.5-1.5 นิ้ว เพื่อให้กระบวนการหมักปุ๋ยใช้เวลาหมักได้รวดเร็วขึ้น

กระบวนการหมักปุ๋ยสามารถทำได้ทั้งในระดับชุมชนหรือครัวเรือน โดยเริ่มตั้งแต่การทำปุ๋ยหมักแบบง่ายเพียงใช้จอบ เสียม หรือ พลั่ว เป็นอุปกรณ์ในการพลิกกลับไป-มาในปุ๋ยหมัก หรืออาจใช้เครื่องจักรสำหรับการทำปุ๋ยหมักโดยเฉพาะ ที่นิยมทำกันมากเป็นการทำปุ๋ยหมักแบบตาข่ายหรือแบบทันใจหมักราว 2 เดือน แบบบ่อซีเมนต์หมัก 3 เดือน ส่วนแบบตะกร้าฝังดิน จะใช้น้ำหมักชีวภาพรดเป็นระยะเพื่อเร่งกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ โดยแต่ละวิธีการทำปุ๋ยหมักจะต้องคอยดูไม่ให้เกิดความชื้นมากเกินไป หรือการถ่ายเทอากาศไม่เพียงพอ ซึ่งหากมีปัญหาจะต้องเติมขยะพวกใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง เข้าไปเพื่อดูดซับความชื้นและทำให้อากาศถ่ายเทสะดวก หรือ หากมีสัตว์และแมลงคุ้ยเขี่ยกองปุ๋ยหมักเนื่องจากมีขยะจำพวกเศษอาหารมาก จะต้องใช้ดินปกคลุมขยะสดทันทีที่นำมาเติมลงในกองปุ๋ยหมัก ทั้งนี้ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์นำไปใช้ประโยชน์ได้จะมีสีดำคล้ำ เนื้อละเอียด ร่วนซุย มีกลิ่นคล้ายดิน ซึ่งอัตราส่วนในการนำไปใช้ก็ควรผสมดิน 3 ส่วนต่อปุ๋ยหมัก 1 ส่วน

การนำขยะอาหารในครัวเรือนหรือชุมชนมาทำปุ๋ยหมัก ถือเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยลดปริมาณขยะอาหารให้น้อยลงไป แต่จะดีกว่านี้ไหม ถ้าทุกครั้งที่เรากินอาหาร ควรตระหนักรู้ถึงผลเสียของขยะอาหารที่ตามมาจากการกินเหลือ กินทิ้งของเราเอง หากทำได้เช่นนั้นเท่ากับว่าทุกมื้ออาหารของคุณที่ทานหมด ไม่เหลือทิ้ง จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และหากเราทุกคนมีจิตสำนึกร่วมกันช่วยกันไม่สร้างขยะอาหาร โดยเรียนรู้ที่จะจัดการขยะอย่างถูกวิธี รู้จักนำใช้ประโยชน์หรือส่งต่อขยะอาหารได้อย่างเหมาะสม คงทำให้ปัญหาขยะอาหารลดน้อยลง เพื่อให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้นและไม่ร้อนระอุไปกว่านี้

เรียนรู้แนวทางการจัดการขยะอาหารด้วยการนำไปทำปุ๋ยหมักเพิ่มเติมได้ที่ https://www.pcd.go.th/publication/25850/


ข่าวลดก๊าซเรือนกระจก+ก๊าซเรือนกระจกวันนี้

โรงไฟฟ้า BLCP ผนึก Algal Bio เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกด้วยนวัตกรรมจุลสาหร่าย ร่วมจัดแสดงใน JETRO Pavilion ในงาน ASIA Sustainable Energy Week 2025

นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการ (ที่สองจากขวา) บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) จับมือกับ นายมาซาฟูสะ โอเอ (ที่สองจากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อัลกัล ไบโอ จำกัด (Algal Bio) สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากประเทศญี่ปุ่น นำร่องโครงการบำบัดก๊าซเรือนกระจกด้วยนวัตกรรมจุลสาหร่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศอย่างยั่งยืน โครงการนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด โดยมีนายฟุรุกาวะ ทาซากุ

ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัย... วว. รับมอบประกาศนียบัตร "เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร" จาก TGO — ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว...

NCP เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG... NCP มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว-ลดก๊าซเรือนกระจก — NCP เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพ...