ม.มหิดล ร่วมออกแบบและพัฒนาการจัดการขยะ ด้วยแนวทางการมีส่วนร่วมกับชุมชนเมืองอุตสาหกรรม ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

02 Dec 2022

จะทำอย่างไรให้ชุมชนและอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ม.มหิดล ร่วมออกแบบและพัฒนาการจัดการขยะ ด้วยแนวทางการมีส่วนร่วมกับชุมชนเมืองอุตสาหกรรม ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงโครงการวิจัยเพื่อชุมชนล่าสุด โดย คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำหน้าที่เสริมบทบาทสำคัญในการร่วมกันศึกษาเรียนรู้การจัดการขยะอย่างยั่งยืนในชุมชน โดยได้ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชี้วัดระดับอำเภอ (พชอ.) พิจารณาคัดเลือกอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นกรณีศึกษานำร่อง ก่อนขยายผลสู่จังหวัดอื่นต่อไป

คณะนักวิชาการนำเอาหลักคิด "social co-production" มาใช้ในการดำเนินงาน โดยระดมทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์กระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับขยะ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเห็นบทบาทของทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วม ทั้งในการผลิตและการบริหารจัดการขยะ ซึ่งนับเป็นปัญหาเร่งด่วนของทุกชุมชนเมือง ด้วยหลักเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่นยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ (SDGs) เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ในการดำเนินงานระยะต่อไป จะได้ร่วมมือกับวิทยาเขตกาญจนบุรีของมหาวิทยาลัยมหิดล และยังได้รับความสนใจจากอาจารย์ทาง มหาวิทยาลัยยอร์ก สหราชอาณาจักร ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลสู่การเป็นเลิศทางการศึกษาและวิจัย ในการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ตอบโจทย์สังคมและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ อมรสิริพงศ์ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาระบบ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการที่ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าไปช่วยออกแบบและพัฒนาชุมชน เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติSDGs ข้อที่ 3 เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี SDGs ข้อที่ 6 เพื่อการมีน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี และ SDGs ข้อ 11 เพื่อเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน

ด้วย "โมเดลจัดการขยะ" ที่จะร่วมสร้างขึ้นต่อไปนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างยั่งยืนหรือไม่นั้น จะต้องผ่านการระดมความคิดจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ตลอดจนภาควิชาการ เพื่อร่วมลงมือทำให้เกิดความยั่งยืนผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมี คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เป็นแกนหลักหนึ่งของภาควิชาการ

ทีมขับเคลื่อนโครงการฯ ประกอบด้วยคณาจารย์ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา สังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม และนโยบายสาธารณะ จากภาควิชาศึกษาศาสตร์ และภาควิชาสังคมศาสตร์ ที่พร้อมมอบองค์ความรู้ และร่วมลงพื้นที่คอยให้คำปรึกษา

ปัญหาขยะเป็นประเด็นที่หากสังคมยังคงเพิกเฉย อาจส่งผลกระทบได้ถึงในระดับโลก ดั่ง "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" เนื่องจากทุกสรรพสิ่งบนโลกมีการเชื่อมโยงถึงกัน ทุกคนจึงไม่อาจมองข้าม และไม่ควรขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

และกล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ได้หารือกับทางพื้นที่อุตสาหกรรมในพื้นที่มีแนวคิดร่วมกันพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมน่าอยู่ หรือ Eco-town มิติสังคมในฝัน ซึ่งจะเป็นจริงได้ ต้องมีความร่วมมือทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม และทุกคนในชุมชนต้องร่วมด้วยช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นทุกฝ่าย จึงจะมั่นใจได้ว่าจะสามารถบรรลุสู่เป้าหมายของการเป็น Eco-town มิติสังคมที่น่าอยู่ มีการจัดการขยะได้อย่างเหมาะสม สร้างความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชนในเร็ววันได้ต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210