ประเดิมฟาร์มเมอร์มาร์เกต แม่ฮ่องสอน-ลำพูน สศข.1 เผยผลติดตามช่วยเกษตรกรขยายตลาดโดยตรง

17 Nov 2014

นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเขต 1 (สศข.1) เชียงใหม่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการจัดงานตลาดเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบจังหวัดแม่ฮ่องสอน และลำพูน ซึ่งในส่วนของ “ตลาดเกษตรปลอดภัย จังหวัดแม่ฮ่องสอน” นั้น ได้เริ่มดำเนินการวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ณ บริเวณถนนนาวาคชสาร ข้างศาลจังหวัด รูปแบบการจัดงานมีการจำหน่ายสินค้าผลิตผลการเกษตรที่ปลอดภัย และบริการเจาะเลือดตรวจหาสารเคมีตกค้างในร่างกาย โดยโรงพยาบาลศรีสังวาลย์แม่ฮ่องสอน ภายในงานมีร้านจำหน่ายสินค้าทั้งหมด 18 ร้าน ประกอบด้วย ร้านจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เช่น พืชผัก กระเทียม ไก่เมือง ปลา ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปลาส้ม ไส้กรอก ขนมงา ข้าวกล้อง น้ำสมุนไพร ร้านธงฟ้าของกรมการค้าภายในจำหน่าย ไข่ไก่ รวมทั้ง ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าพื้นเมือง และเครื่องจักสานต่างๆ

จากการประเมินผลการจัดงาน พบว่า จากที่ร้านค้าส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรจริง จึงช่วยให้เกิดช่องทางกระจายสินค้าได้เพิ่มขึ้นเพิ่ม เป็นช่องทางการจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรงร้อยละ 100 รองลงมาคือ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ร้อยละ 78 และได้ประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักทราบถึงความต้องการของผู้บริโภคร้อยละ 72 โดยในส่วนของผู้บริโภค พบว่า สามารถให้ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ (สะอาด, สดใหม่) ร้อยละ 100 ได้รับทราบข้อมูลการผลิตจากแหล่งขายโดยตรงร้อยละ 98 และ ได้รับความรู้ด้านการเกษตร ภูมิปัญญาท้องถิ่นร้อยละ 85 ทั้งนี้ ระดับความพึงพอใจต่อการจัดงานภาพรวมอยู่ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 88 ในส่วนของสินค้าที่นำมาจำหน่ายภาพรวมอยู่ในระดับดีคิดเป็นร้อยละ 96

สำหรับการจัดงาน “ตลาดเกษตรกรจังหวัดลำพูน” ซึ่งเริ่มดำเนินการในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ณ ศาลากลางจังหวัดลำพูน รูปแบบการจัดงานสไตล์ล้านนา กาดมั่ว วางแคร่ และกางร่มสำหรับร้านค้าเกษตร และเต้นท์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีร้านค้านำสินค้ามาจำหน่าย 26 ร้านค้า ประกอบด้วยร้านค้าสินค้าเกษตรและแปรรูปเกษตรนำมาจำหน่ายได้แก่ พืชผัก ผลไม้ พันธุ์ไม้ เนื้อหมู สัตว์น้ำ อาหารสด อาหารแปรรูป น้ำผลไม้ ขนมไทย ผลิตภัณฑ์สบู่ ครีมไหม และร้านอื่นๆ ได้แก่ เสื้อผ้าพื้นเมือง สินค้าอุปโภคบริโภค (ธงฟ้า)

จากการประเมินผลการจัดงาน พบว่า ร้านค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรช่วยเกิดช่องทางกระจายสินค้าได้เพิ่มขึ้น เป็นช่องทางการจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรงร้อยละ 96 รองลงมาได้ประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักร้อยละ 58 และทราบความต้องการของผู้บริโภคร้อยละ 54 ในส่วนของผู้บริโภคเกิดประโยชน์ คือ ได้ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ (สะอาด, สดใหม่) ร้อยละ 100 ได้รับทราบข้อมูลการผลิตจากแหล่งขายโดยตรงร้อยละ 43 และได้รับความรู้ด้านการเกษตร / ภูมิปัญญาท้องถิ่นร้อยละ 7 โดยมีระดับความพึงพอใจต่อการจัดงานภาพรวมอยู่ในระดับดีคิดเป็นร้อยละ 91 ในส่วนของสินค้าที่นำมาจำหน่ายภาพรวมอยู่ในระดับดีคิดเป็นร้อยละ 93 ซึ่งตลาดเกษตรกรแห่งนี้จะดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำทุกสัปดาห์ ตามเวลาและสถานที่ดังกล่าว

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit