สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเลือกยานนาวาเป็นเขตนำร่อง

12 Sep 1997

กรุงเทพ--12 ก.ย.--สำนักงานเขตกรุงเทพ

ที่สำนักงานเขตยานนาวา วันที่ 11 ก.ย. 40 เวลา 14.00 น. ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนายเจมส์ กุสตาฟ สเปท ผู้บริหารสูงสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) พร้อมคณะร่วมเป็นประธานการประชุมนำเสนอโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนภายใต้แผนความร่วมมือระหว่างไทย-สหประชาชาติ โดยการนำเสนอกิจกรรมของผู้แทนกลุ่มชุมชนเจ้าพระยา กลุ่มสตรีชุมชนคลองขวาง และกลุ่มเครือข่ายสุขาภิบาล และพัฒนาสิ่งแวดล้อม 6 ชุมชน หลังจากนั้นนายสเปท และผู้ว่าฯ กทม. ได้เดินทางไปเยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและร้านค้าในชุมชนเจ้าพระยา

ผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติอย่างสูงที่ผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งกรุงเทพมหานคร ในเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามนโยบายของ กทม. โดยได้มีการจัดตั้งประชาคมเมืองขึ้นมา ดังนั้นการที่ยูเอ็นดีพี ได้นำกรณีตัวอย่างศึกษาในประเทศอื่นที่ประสบความสำเร็จนำเสนอในพื้นที่เขตยานนาวานับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งเขตยานนาวาเป็นเขตเดียวที่ได้รับการคัดเลือกจากสหประชาชาติเป็นเขตนำร่อง ในโอกาสต่อไป กทม. จะขยายผลออกไปให้ครบ 39 เขตปกครอง อย่างไรก็ตามประชาคมเมืองในพื้นที่เขตอื่น ๆ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

ผู้ว่าราชการกทม. กล่าวต่อไปว่าการดำเนินงานทั้ง 5 โครงการ ได้แก่ "โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน" "โครงการร้านค้าสวัสดิการชุมชน" ของกลุ่มชุมชนเจ้าพระยา โครงการกลุ่มออมทรัพย์พัฒนาคลองขวาง" "โครงการผลิตเสื้อผ้าเสริมรายได้" ของกลุ่มสตรีชุมชนคลองขวาง และ "โครงการสำรวจชุมชนเพื่อที่อยู่อาศัย" ของกลุ่มเครือข่ายสุขาภิบาลและพัฒนาสิ่งแวดล้อม 6 ชุมชน (เจ้าพระยา, เย็นอากาศ 2, เชื้อเพลิงพัฒนา, ร่วมพัฒนาเชื้อเพลิง 2, สามัคคีรวมใจ และบัวหลวง) นั้น ทางยูเอ็นดีพี จะให้การสนับสนุนโครงการฯ ต่อไปในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนระหว่างกทม. กับยูเอ็นดีพี นอกจากนี้จะมีองค์กรเอ็นจีโอ เข้ามาร่วมพัฒนาอีกด้วย

อนึ่ง แผนความร่วมมือไทย-สหประชาชาติ มุ่งที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย ภาคเอกชน องค์กรเอกชน ประชาชน และองค์การสหประชาชาติ ในการพัฒนาแบบองค์รวม และเน้นคนเป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อที่จะสนับสนุนจุดมุ่งหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 นอกจากนี้แผนความร่วมมือไทย-สหประชาชน ยังได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาแบบหลายฝ่าย และการพัฒนาขัดความสามารถในระดับตำบล รวมทั้งการจัดทำกลยุทธการลดความยากจนโดยได้มีการเริ่มทำกิจกรรมเหล่านี้ในพื้นที่ทดลอง ได้แก่ จังหวัดพะเยา เพชรบุรี มหาสารคาม ปัตตานี และเขตยานนาวาของกรุงเทพมหานคร--จบ--