กทม.ประชุมความก้าวหน้าโครงการศึกษากลุ่มผู้ติดยาเสพติที่มีเชื้อเอดส์

09 Sep 1997

กรุงเทพ--9 ก.ย.--สำนักงานเขตกรุงเทพ

วันที่ 8 ก.ย. 40 เวลา 12.30 น. ที่โรงแรมโซลทวิน เขตปทุมวัน นพ.ขจิต ชูปัญญา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมความก้าวหน้าการติดตามโครงการ Cohort Study (การศึกษากลุ่มผู้ติดยาเสพติด เพื่อหาอัตราอุบัติการของการติดเชื้อเอดส์) โดยมี นพ.ธรรมนูญ วานิยะพงศ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.ระพีภัทร์ เกษมศุข ผู้อำนวยการสำนักอนามัย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมพิธีเปิด สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่จากคลีนิคยาเสพติด สำนักอนามัย 15 แห่ง ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยาและนักสังคมศาสตร์ รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 120 คน

รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดเริ่มมาตั้งแต่ปี 2520 โดยขณะนั้นมีผู้ติดยาเสพติดกว่า 500,000 คน และร้อยละ 80 อยู่ในกรุงเทพมหานคร กทม. จึงได้เริ่มโครงการรักษาผู้ติดยาเสพติดขึ้น จากนั้นได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา กระทรวงสาธารณสุข และปปส. เป็นต้น จนทำให้ กทม. มีความก้าวหน้าในด้านการรักษาจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดีในปี 2530 ได้เริ่มมีโรคเอดส์เข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้ติดยาเสพติด หลังจากนั้นได้ระบาดมากขึ้น โดยในปี 2531 มีผู้ป่วยเอดส์สาเหตุจากการติดยาเสพติด กว่า 40% กทม. จึงได้ดำเนินการเกี่ยวกับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและผู้ป่วยเอดส์ไปพร้อม ๆ กัน ต่อมา WHO ได้ให้กทม. ศึกษาทดลองเรื่องยาเสพติดกับโรคเอดส์ เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีคนไข้พร้อมอยู่แล้ว ประกอบกับหลายหน่วยงานเสนอให้กทม. ช่วยดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนเอดส์ด้วย กทม. โดยสำนักอนามัย จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยงาน CDC จากต่างประเทศ และองค์กรเอกชน ทดลองวัคซีนเอดส์ โดยเริ่มดำเนินการมา 2 ปี แล้ว อยู่ในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นขั้นการศึกษาเรื่องความพร้อมของคนไข้ และพิสูจน์วัคซีนว่ามีอันตรายหรือไม่ โดยในขั้นนี้ยังไม่มีการทดลองวัคซีนกับคนไข้โดยตรง

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า การทดลองระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีคนไข้เข้าร่วมโครงการจำนวนกว่าพันคน (จากคลีนิคยาเสพติด 15 คลีนิค) การติดตามผลอยู่ในระดับดี ทั้งนี้การก้าวไปถึงระยะที่ 3 คือ ขั้นประเมินวัคซีน คาดว่าต้องมีคนไข้เข้าร่วมโครงการประมาณ 2,500 คน กทม. จึงต้องมีการปรับปรุงการติดตามให้ดียิ่งขึ้นอีก การประชุมในวันนี้ตนหวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันแก้ไขปัญหาให้การดำเนินการศึกษาดียิ่งขึ้น เพื่อจะได้ก้าวขึ้นไปถึงขั้นการประเมินวัคซีนเอดส์ ประกอบกับขณะนี้ตนมีนโยบายให้ผู้ติดยาเสพติดเข้ามารักษาในคลีนิคยาเสพติดมากที่สุด เพราะจะเป็นผลดีแก่คนไข้เอง โดยกทม. จะให้บริการตลอดทั้งวัน เพื่อสะดวกแก่คนไข้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวด้วย

ด้านรองปลัดกทม. กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่โครงการ Cohort Study ดำเนินมา ซึ่งได้ผลดีกว่า Cohort แห่งอื่น ๆ กล่าวคือ ใน 2 ปี สมัครสมาชิกได้ 1,222 คน ในการติดตามทุก 4 เดือน ครั้งแรกติดตามได้ร้อยละ 87 เมื่อครบ 1 ปี ติดตามได้ร้อยละ 81 และกลุ่มที่ตามได้ครบ 2 ปี มีอยู่ร้อยละ 75 สำหรับอัตราอุบัติการติดเชื้อ HIV ในปีแรก มีอัตรา 4.5 ต่อร้อยต่อปี และใน 2 ปี มีอัตรา 7 ต่อร้อยต่อปี ทั้งนี้จากการดำเนินการที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่คลีนิคทั้ง 15 แห่ง ได้มีประสบการณ์ในการคัด กรอง การรับสมัครและติดตามมากขึ้น เหล่านี้ทำให้มีความพร้อมสำหรับดำเนินการโครงการทดสอบวัคซีนระยะที่สามคือ ระยะสุดท้าย เมื่อวัคซีนทดลองพร้อม ซึ่งการดำเนินการโครงการทดสอบวัคซีนระยะที่สามจะต้องเพิ่มประสิทธิผลในการติดตามให้มากกว่านี้ รวมทั้งประสิทธิภาพในการรวบรวมข้อมูล เพื่อที่โครงการจะประสบความสำเร็จมากขึ้น ดังนั้นการประชุมครั้งนี้คาดว่าจะแก้ปัญหาให้ดีขึ้นในด้านการติดต่อเพื่อให้ผู้ดำเนินการทุกคนในคลีนิคได้ทราบ และเข้าใจความก้าวหน้าของโครงการว่า จะมีแผนดำเนินการต่อไปอย่างไร--จบ--