โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนประสานความร่วมมือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บบนท้องถนน

11 Aug 1997

กรุงเทพ--11 ส.ค.--สำนักงานเขตกรุงเทพ

ที่ศาลาว่าการกทม. วันที่ 8 ส.ค. 40 เวลา 12.30 น. ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าฯกทม.เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประสานความร่วมมือด้านการรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้ประสบอุบัติเหตุ และคลอดบุตรบนท้องถนนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.ขจิต ชูปัญญา รองผู้ว่าฯกทม. นพ.เสรี ตู้จินดา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธรรมนูญ วานิยะพงศ์ รองปลัดกทม. นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. นพ.ฉันทกรณ์ ชุติดำรง อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการ ผู้บริหารของโรงพยาบาลภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่ร่วมพิธี

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวมตัวกันและจัดตั้งเป็นเครือข่ายช่วยชีวิตของประชาชนเมื่อประสบอุบัติเหตุหรือมีการคลอดบุตรบนท้องถนน ทั้งนี้เครือข่ายที่ได้ร่วมประสานงานกันนี้จะแบ่งออกเป็น 7 โซน โดยมีโรงพยาบาลในเครือข่ายรับผิดชอบพื้นที่แต่ละจุด รวมทั้งจัดส่งแพทย์ และรถพยาบาลไปจุดที่เกิดเหตุแล้ว นำตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่อไป สำหรับเครือข่ายโรงพยาบาลที่ได้ร่วมมือกันจะมีการสนับสนุนด้านเครื่องมือ อุปกรณ์และแพทย์ซึ่งกันและกัน ซึ่งต่อไปจะทำให้ประชาชนมีความสบายใจ อุ่นใจ มากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้บาดเจ็บจะได้รับการช่วยเหลือ ณ ที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ กทม.จะได้เพิ่มเรือพยาบาลฉุกเฉินอีก 3 ลำ และรถมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉินอีกด้วย

อนึ่ง ประชาชน หรือผู้ขอความช่วยเหลือ สามารถแจ้งข้อมูลข่าวสาร เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ ที่หมายเลขโทรศัพท์ ดังนี้ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านอุบัติเหตุและอุบัติภัยกรุงเทพมหานคร หมายเลข 1555 หน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล หมายเลข 1554 ศูนย์นเรนทร 1669 และศูนย์วิทยุตำรวจนครบาล หมายเลข 191 เป็นจุดประสานงานหลักฯ ทำหน้าที่ในการรับแจ้งเหตุและกระจายการปฏิบัติงานไปยังสถานพยาบาลในโครงการ ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 7 แห่ง คือ วชิรพยาบาล โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ โรงพยาบาลหนองจอก โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิศสิน โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี และโรงพยาบาลหัวเฉียว ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน โดยมีการแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบในการนำตัวผู้บาดเจ็บจากจุดเกิดเหตุ ส่งสถานพยาบาลที่เหมาะสม ซึ่งการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบมีดังนี้

1. วชิรพยาบาล (6 เขต) ดุสิต บางซื่อ บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ตลิ่งชัน บางพลัด

2. รพ.กลาง (4 เขต) พระนคร ป้อมปราบ สัมพันธวงศ์ ปทุมวัน

3. รพ.ตากสิน (4 เขต) ธนบุรี คลองสาน ภาษีเจริญ หนองแขม

4. รพ.เจริญกรุงฯ (5 เขต) บางคอแหลม ยานนาวา จอมทอง ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน

5. รพ.ราชวิถี (8 เขต) พญาไท ห้วยขวาง ดินแดง จตุจักร ลาดพร้าว บางกะปิ ดอนเมือง ราชเทวี

6. รพ.เลิศสิน (6 เขต) บางรัก สาธร คลองเตย สวนหลวง พระโขนง ประเวศ

7. รพ.นพรัตน์ราชธานี (5 เขต) บางเขน มีนบุรี บึงกุ่ม หนองจอก ลาดกระบัง--จบ--