เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ แสดงทัศนะ พรบ. ล้มละลายฉบับใหม่ เอื้อประโยชน์ธุรกิจ ทิศทางสดใส

13 Mar 1998

กรุงเทพ--13 มี.ค.--เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่

ทนายความที่ปรึกษากฎหมายจากเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ชี้กฎหมายล้มละลายฉบับใหม่พัฒนาการก้าวสำคัญของกฎหมายธุรกิจไทยในการฟื้นฟูธุรกิจ

ในการประชุมสัมมนาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring) ซึ่งจัดขึ้นโดยเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายทั้งจากสำนักงานในไทยและต่างประเทศได้เข้าหารือร่วมลงความเห็นถึงแง่มุมด้านต่าง ๆ ของพระราชบัญญัติล้มละลายฉบับใหม่ การสัมมนานำโดยนายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการที่ปรึกษากฎหมายของเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ประเทศไทย โดยได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2541 และจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ หลังจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ มร. สตีเฟ่น อีโน่ หุ้นส่วนจากเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ฮ่องกง และ มร. มาร์ค แชปเปิล หุ้นส่วนจากซิดนีย์ ยังร่วมแสดงทัศนะในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายล้มละลายที่ใช้ในต่างประเทศ

ประเด็นสำคัญในการสัมมนาครั้งนี้ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ชี้ว่ากฎหมายฉบับใหม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทที่ตกอยู่ในสภาพหนี้สินล้นพ้นตัวให้สามารถฟื้นฟูกิจการ และเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ ทนายความและที่ปรึษากฎหมายผู้ร่วมในการสัมมนายังลงความเห็นพ้องกันว่ากฎหมายฉบับใหม่นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้เกี่ยวข้องในวงการกฎหมายในประเทศไทย

พระราชบัญญัติล้มละลายฉบับใหม่มีจุดประสงค์สำคัญ ดังนี้ - เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการในความดูแลของศาล - กลุ่มเจ้าหนี้สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับบริษัทลูกหนี้ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ โดยมิได้สิทธิพิเศษในการขอรับชำระหนี้และอาจจะได้รับฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ - เพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ เพราะลูกหนี้ผู้ฟื้นฟูกิจการมีสิทธิในการขอรับชำระหนี้จากลูกหนี้ของตนได้โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องคดีใหม่

นายกิติพงศ์ชี้ให้เห็นข้อดีของ พรบ. ฉบับใหม่ว่า “ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะช่วยลดระยะเวลาในการพิจารณาคดีและค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้และระงับการดำเนินการใดที่จะเป็นอุปสรรคของการฟื้นฟูกิจการ เอื้อประโยชน์ให้เจ้าหนี้สามารถขอรับชำระหนี้ได้ รวมทั้งลูกหนี้มีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไปเพื่อหารายได้มาชำระหนี้ได้ในอนาคต”

“พ.ร.บ. ล้มละลายฉบับใหม่จะลดปัญหาด้านกฎหมายในประเด็นที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างด้านการเงินของบริษัท ทั้งในเรื่องของการลดทุนและเพิ่มทุนรวมทั้งการขายสินทรัพย์ โดยเจ้าหนี้สามารถเพิ่มเงินกู้หรือให้เครดิตเพื่ออัดฉีดการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์” นายกิติพงศ์กล่าว

ประเด็นหลักที่หารือกันในการสัมมนาที่จัดขึ้น ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญดังนี้ - เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันที่มีหนี้รวมไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท สามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอฟื้นฟูกิจการได้ - เมื่อศาลรับพิจารณาคำร้องของเจ้าหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในระยะเวลาดังกล่าวศาลจะให้ความคุ้มครองโดยห้ามมิให้เจ้าหนี้หรือบุคคลใด ๆ ฟ้องลูกหนี้ รวมทั้งหยุดหรืองดการพิจารณาคดีอื่น ๆ ของลูกหนี้ไว้ก่อน - หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศาลจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนซึ่งจะดำเนินการร่วมกับบริษัทลูกหนี้และกลุ่มเจ้าหนี้ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของกลุ่มเจ้าหนี้และศาล - เจ้าหนี้รายใดที่เพิ่มจำนวนเงินกู้ให้กับบริษัทลูกหนี้ในระหว่างแผนฟื้นฟูกิจการจะได้รับฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ - เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงจะเป็นผู้ลงมติรับแผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ หากเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าหนี้และลูกหนี้จะปฎิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ผลการสัมมนา ที่ปรึกษากฎหมายจากเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ต่างเห็นชอบในหลักการทั่วไปของพรบ. ล้มละลาย ฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นสำคัญหลายประการในกฎหมายฉบับใหม่ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของกฎหมายล้มละลายให้ดีขึ้นในอนาคต เช่นการใช้ดุลพินิจของศาล ในการฟื้นฟูสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้หากลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงินที่มิได้ยื่นคำร้องเพื่อฟื้นฟูกิจการ

มร. มาร์ค แชปเปิล จากเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ซิดนีย์ ให้ความเห็นจากแง่มุมของนักกฎหมายจากต่างประเทศ มร. แชปเปิล มองว่าประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากขั้นตอนและประสบการณ์การใช้กฎหมายล้มละลายในประเทศออสเตรเลีย โดยพรบ. ฉบับใหม่มีสาระสำคัญที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

มร. แชปเปิล ให้ความเห็นว่า “กฎหมายล้มละลายฉบับใหม่นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ที่เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและบริหารสินทรัพย์ในบริษัทของลูกหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นอกจากนี้ มร. สตีเฟ่น อีโน่ จากเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ฮ่องกง กล่าวว่า “โดยภาพรวมแล้วพวกเราทุกคนในเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ มีความรู้สึกยินดีที่เห็นร่างพรบ. ล้มละลายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ซึ่งเป็นพัฒนาการอันดีของวงการกฎหมายไทย อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งก็คือการวางแผนและกำหนดขั้นตอนอันเหมาะสมเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการตามสิทธิของตนได้อย่างราบรื่น”

มร. อีโน่ กล่าวสรุปว่า “ผมเห็นว่าประเทศไทยได้เดินมาในทิศทางที่ถูกต้อง กฎหมายล้มละลายฉบับใหม่จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยมีระบบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการเศรษฐกิจการเงินเช่นในปัจจุบัน”

เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายระดับโลก โดยมีทนายความผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งสิ้น 2,000 คน มีสำนักงาน 58 แห่งในศูนย์กลางด้านธุรกิจสำคัญ ๆ ใน 34 ประเทศทั่วโลก สำหรับในแถบเอเชีย แปซิฟิค เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองสำคัญทั่วภูมิภาคกรุงเทพฯ, ปักกิ่ง, โตเกียว, ไทเป, ฮ่องกง, ฮานอย, โฮจิมินห์ ซิตี้, กัวลาลัมเปอร์, มนิลา, สิงคโปร์, จาการ์ตา, ซิดนีย์ และเมลเบิร์น สำนักงานของเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ปรึกษากฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในทุกประเทศที่เราเปิดดำเนินการ โดยให้บริการด้านกฎหมายจากทนายความผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกความได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ สุคนธ์ทิพย์ ประหารภาพ โทร. 252-9871--จบ--