รพ.เชียงรายหวั่นปัญหาวัณโรคระบาดในบุคลากรใช้มาตรการคุมเข้ม

19 Mar 1998

กรุงเทพ--19 มี.ค.--กระทรวงสาธารณสุข

โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวที่ได้รับความร่วมมือจากศูนย์ความร่วมมือการวิจัยโรคเอดส์ ทำการควบคุมปัญหาวัณโรคในบุคลากรทุกระดับ ในขณะนี้

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2541 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ พร้อมด้วย Dr.Timothy Mastro ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือการวิจัยโรคเอดส์ แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนว่า วัณโรคเป็นปัญหาสาธาณสุขในระดับโลกปัญหาหนึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าปัจจุบันประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีการติดเชื้อวัณโรคแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคถึง 3 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยมีรายงานจำนวนผู้ป่วยที่ป่วยเป็นวัณโรคทั่วประเทศประมาณปีละ 50,000 ราย ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีการควบคุมวัณโรคอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยการรักษาด้วยระบบยาระยะสั้น ส่งผลให้อัตราป่วยลดลง แต่เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มมากขึ้นทำให้อัตราป่วยจากวัณโรคเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่พบผู้ป่วยโรคเอดส์สูงที่สุดการเพิ่มของวัณโรคในกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่มีอายุช่วง 15 - 34ปีที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลจึงเพิ่มขึ้นมากด้วยดังนั้นโอกาสที่บุคลากรในโรงพยาบาลต่างๆจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยด้วยวัณโรคจึงมีมากขึ้นเช่นกัน

และจากปัญหาโรคเอดส์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนี้จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ส่งผลให้มีการเพิ่มของวัณโรคมากขึ้นโดยพบว่าช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 เท่าตัว จาก250 รายเพิ่มเป็น 750 ราย และที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือช่วง 10ปีที่ผ่านมามีบุคลากรในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ป่วยด้วยวัณโรคจำนวน 45 รายส่วนใหญ่เป็นพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่คลุกคลีกับผู้ป่วย ซึ่งเรื่องนี้ทางศูนย์ความร่วมมือการวิจัยโรคเอดส์ โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย และศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์และสถาบันวิจัยวัณโรคประเทศญี่ปุ่นดำเนินการศึกษาปัญหาของวัณโรคร่วมกับการติดเชื้อเอชไอวี ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน และเมื่อปี 2539 ได้ทำการทดสอบเพื่อหาอัตราการติดเชื้อวัณโรคของบุคลากรจำนวน 900 คนด้วยวิธีทดสอบทางผิวหนังพบมีผลบวกของบุคลากรสูงถึง 68 % ซึ่งแสดงว่าอาจมีเชื้ออยู่แต่ร่างกายสามารถควบคุมไว้ได้ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแบบแผนการระบายอากาศ จากศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ( CDC )สหรัฐอเมริกามาแนะนำช่วยแก้ปัญหา

จากการดำเนินการมาเป็นเวลา 4 ปีและถือได้ว่าโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์เป็นโรงพยาบาลหนึ่งของประเทศไทยที่มีมาตรการควบคุมปัญหาวัณโรคแก่บุคลากรได้อย่างครบวงจร โดยมีการจัดคลินิคผู้ป่วยนอกที่เป็นวัณโรคให้รับบริการเบ็ดเสร็จจุดเดียวเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อมีการเฝ้าระวังโรคของผู้ป่วยวัณโรคและบุคลากรของโรงพยาบาลที่ป่วยด้วยวัณโรคและให้การรักษาทันที และที่สำคัญการควบคุมด้านวิศวกรรมเน้นการระบายอากาศของห้องแยกผู้ป่วยวัณโรคซึ่งทางโรงพยาบาลถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและการป้องกันเฉพาะบุคคลโดยใช้หน้ากากร่วมกับการให้ความรู้แก่บุคลากรการดำเนินการครั้งนี้จะประเมินผลอีก 2 ปีข้างหน้า--จบ--