กรุงเทพ--2 ก.ย.--ปรส.
กรณีที่มีข่าวที่สร้างความสับสนให้กับลูกค้าเช่าซื้อรถยนต์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซิทก้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการจำนวน 56 แห่ง โดยมีชื่อขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.) เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ดร.มนตรี เจนวิทย์การ ผู้ช่วยเลขาธิการ ปรส. ชี้แจงว่า เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เช่าซื้อรถยนต์ ขอแนะนำดังนี้
1. ผู้เช่าซื้อรถยนต์ต้องตรวจสอบสัญญาเช่าซื้อก่อนว่า ได้ทำสัญญาไว้กับบริษัทใด ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) กับบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง จำกัด (เดิมชื่อซิทก้า ลิสซิ่ง) ทั้งนี้ ปรส.จะมีส่วนเกี่ยวข้องเฉพาะกรณีของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) ส่วนกรณีของบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง ต้องสอบถามที่บริษัทดังกล่าวเอง
2. หากทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน)ให้ตรวจสอบต่อไปว่าบัญชีที่ตนเคยชำระเงินค่างวดโดยตรง หรือโอนเงินเข้าในบัญชีบริษัทใด ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) กับ บริษัทซิทก้าเอส พี วี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับโอนสิทธิ์เรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า เพื่อกู้จากบริษัทซิทคาร์ ฟันดิ้ง โดยมีบริษัทเอ็มบีโอ เอ อินชัวรันช์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา
3. หากเคยโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อนหน้านี้มีบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง เป็นผู้จัดเก็บเงินตามสัญญาว่าจ้าง แต่เนื่องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า ได้บอกเลิกสัญญาว่าจ้างเก็บเงินแล้วตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2541 ให้ลูกค้าเช่าซื้อชำระเงินโดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ปรส.1) หมายเลขบัญชี 015-1-31225-7 และนำส่งหลักฐานการชำระเงินให้กับ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) หมายเลขโทรสาร 652-6059 หรือชำระโดยใช้ใบนำฝากที่บริษัทเงินทุนกลักทรัพย์ซิทก้าเคยจัดส่งให้
อนึ่ง สัญญาเช่าซื้อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำซีเคียวริไทเซชั่น มีจำนวน 2,110 สัญญาคิดเป็นมูลค่าประมาณ 286.1 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ และจะมีการโอนสัญญาเพื่อปิดการจำหน่ายภายในเดือนตุลาคมนี้
4. ตามสัญญาซีเคียวริไทเซชั่น ซึ่งบริษัทเอ็มบีไอ เอ อินชัวรันช์ เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา เดิมบริษัทเอ็มบีโอ เอฯได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง เป็นผู้จัดเก็บเงิน ต่อมาบริษัทเอ็มบี ไอ เอฯ ได้ยกเลิกสัญญาดังกล่าว และแต่งตั้งบริษัททิสโก้ ลิสซิ่ง เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บเงินแทน ทางบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้าจึงได้นำส่งคู่มือจดทะเบียนรถในส่วนที่ทำซีเคียวรีไทเซชั่นให้กับบริษัททิสโก้ ลิสซิ่ง เป็นผู้เก็บรักษา
"ผู้เช่าซื้อรถที่เป็นลูกค้าของ บงล.ซิทก้า ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ทำซีเคียวริไทเซชั่น หรือที่ไม่ได้ทำซีเคียวริไทเซชั่น จะไม่มีปัญหาในการโอนทะเบียน เพราะหลักฐานเกี่ยวกับคู่มือการจดทะเบียนรถนั้น เก็บรักษาที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า และบริษัททิสโก้ ลิสซิ่ง จำกัด ไม่ได้อยู่ที่บริษัทเอส แอล ซีสิสซิ่ง " ดร.มนตรีกล่าว
สำหรับกรณีที่ผู้บริหารของบริษัทเอส แอล ซี สิสซิ่ง จำกัด อ้างว่า ปรส.ซึ่งดูแลบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า และครอบครองคู่มือจดทะเบียนรถของบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือผู้เช่าซื้อรถโดยการคืนทะเบียนให้นั้น ทางบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากบริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง ได้นำคู่มือจดทะเบียนรถบางส่วนมาค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า และไม่ปฏิบัติตามสัญญาการกู้ยืมเงินจึงไม่สามารถคืนทะเบียนให้ได้ ซึ่งก็เป็นหลักการปฏิบัติทางธุรกิจโดยชอบด้วยกฎหมาย
หมายเหตุ เนื่องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) กับบริษัทซิทก้า ลิสซิ่ง จำกัด (เอส แอล ซี ลิสซิ่ง) เป็นนิติบุคคลที่แตกต่างกัน และไม่มีการบริหารที่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด จึงขอความร่วมมือในการตั้งหัวข่าวให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ทั้งนี้ ควรใช้ชื่อปัจจุบันของบริษัทซิทก้า สิสซิ่ง คือ บริษัทเอส แอล ซี ลิสซิ่ง จะเหมาะสมที่สุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ดร.มนตรี เจนวิทย์การ, คุณปิยมิตร ยอดเมืององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน โทร.263-2620 ต่อ 102-105--จบ--