ม.ธรรมศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80ฯ จัดการแสดงโขนธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

12 Jun 2000

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--ม.ธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80ฯ จัดการแสดงโขนธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วันที่ 12 มิถุนายน 2543 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอเชิญเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การแสดงโขนธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2543 เวลา 19.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.นริศ ชัยสูตร อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงว่า เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2543 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสถาบันไทยคดีศึกษา ร่วมกับมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยความร่วมมือกับวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร โครงการจัดตั้ง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการแสดงโขนธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติขึ้น ในตอน "ถวายลิง-ชูกล่อง-ครองเมือง" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อบ้านเมือง พสกนิกร และต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพื่อถวายเป็นพระเกียรติยศเนื่องในวโรกาสดังกล่าว โดยได้ตั้งเอาวาระอันเป็นศุภมงคลนี้ ฟื้นฟู อนุรักษ์ และบูรณาการมรดกทางวัฒนธรรม อันเป็นภูมิปัญญาที่น่าภาคภูมิใจของชาติ นำภูมิปัญญาทางศิลปกรรมของไทย ด้านดนตรีและนาฏศิลป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงโขนและละคอนใน มาสืบสานและ สืบทอดสู่สังคมปัจจุบัน โดยจัดแสดงในวันที่ 12 มิถุนายน 2543 และได้กราบบังคมทูลฯ เชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตร เวลา 19.00 น.

ทางด้าน ฯพณฯ บุญชู โรจนเสถียร รองประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ฯ คนที่ 1 กล่าวว่า มูลนิธิเห็นด้วยกับการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถือเอาวาระอันเป็น ศุภมงคลนี้ ฟื้นฟู อนุรักษ์ และบูรณาการโขน สร้างมาตรฐานในการนำเสนอ และสืบทอด ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยการแสดงครั้งนี้ผู้แสดงเป็นโขนธรรมศาสตร์ทั้งสิ้น ทั้งนักศึกษาเก่าที่ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้อำนวยการฝึก และนักศึกษาปัจจุบัน ซึ่งมูลนิธิมีส่วนร่วมสนับสนุนมหาวิทยาลัย ให้มีการเรียนทางทฤษฎี และฝึกซ้อมในทางปฏิบัติวิชาโขน ในโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมนักแสดงทั้งสิ้นประมาณ 120 คน กล่าวได้ว่าการแสดง โขนธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ เป็นการชุมนุมดาวเด่นโขนธรรมศาสตร์ ครั้งสำคัญ เช่น คุณสมบัติ ภู่กาญจน์ คุณสมหมาย จันทร์เรือง พ.ต.อ.มานิจ ธนสันติ คุณธาดา วิทยาพูล เป็นต้น ส่วนนักศึกษาโขนธรรมศาสตร์นั้น ก็ได้รับการฝึกสอนและฝึกซ้อม จากศิษย์โขน ธรรมศาสตร์รุ่นก่อนๆ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมี ครูจตุพร รัตนวราหะ ศิษย์โขน ธรรมศาสตร์ยุคสมัยก่อตั้ง เป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อม ซึ่งโขนธรรมศาสตร์นี้มีลักษณะ พิเศษคือ ไม่ใช่โขนอาชีพ แต่เป็นกิจกรรมการปลูกฝังรากฐานทางวัฒนธรรมประเพณี ด้านนาฏศิลป โดยเฉพาะนาฏศิลปชั้นสูงแก่นักศึกษา ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะโขน แต่รวมละคอนใน นาฏศิลปชั้นสูงในราชสำนัก และ ละคอนนอก นาฏศิลปของประชาชน สามัญ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล ในฐานะประธานคณะกรรม การดำเนินการจัดกิจกรรม เฉลิมพระเกียรติพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนม พรรษาครบ 6 รอบ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โขนธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ ได้คัดเลือกมาแสดงสามตอนด้วยกันคือ ตอน "ถวายลิง-ชูกล่อง-ครองเมือง" แก่นของเรื่อง สอดคล้องกับวาระ เฉลิมฉลอง คือ ธรรมชนะอธรรม และโดยเหตุแห่งชนะ มีผลให้ บ้านเมืองสุขเกษมปรีดา โดยมีครูเกษม ทองอร่าม เป็นผู้เขียนบทโขน ซึ่งเป็นบทที่มี ความไพเราะ และกระชับ เนื่องจากเป็นการแสดงที่กำหนดระยะเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการท้าทายที่จะต้องบรรจุขนบแห่งการแสดงโขน ทั้งลีลา กระบวนรำ เพลง บทพากย์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งตัดให้เหลือแต่ในสิ่งที่เป็นสุดยอดของโขน เป็นไปตามประเพณีการแสดงโขน ให้ผู้ชมเต็มอิ่มกับการแสดง และยังจะมีการรำ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในการแสดงโขน คือการรำฉุยฉายหนุมาน เนื่องจากการรำหนุมาน ไม่เคยมีเพลงหรือท่ารำฉุยฉาย หากโขนรรมศาสตร์ครั้งนี้ จะมีการเพิ่มท่ารำฉุยฉาย หนุมานในเนื้อหา ของการแสดงเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้การแสดงยังเน้นระบบเสียงที่มีความกระหึ่ม หนักหน่วง ให้ความรู้สึกว่า เพลงโขนนั้นมีพลังมาก ผู้ชมการแสดงครั้งนี้จะได้รับอรรถรสของบทพากย์โขน ที่มีความไพเราะยิ่ง และการออกแบบฉากที่พิเศษออกไป ด้วยการฉายสไลด์ที่ถ่ายมาจาก ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องรามเกียรติในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง จากจอโปรเจ็คเตอร์ไปยังฉากหลังของเวที เพื่อให้การแสดง เหมือนจริงมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.นริศ ชัยสูตร กล่าวในตอนท้ายว่า นับแต่ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งโขนธรรมศาสตร์ เมื่อประมาณ ปีพ.ศ. 2507 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดแสดงโขนธรรมศาสตร์ในวาระสำคัญๆ เช่น แสดง สมโภชการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และในโอกาส ครบสามพระชันษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น และในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญทุกท่าน ชมการแสดงโขนธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ โดยรอบเสด็จพระราชดำเนิน วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2543 เวลา 19.00 น. บัตรราคา 1,000 บาท 400 บาท และ 200 บาท

ติดต่อซื้อบัตรได้ที่ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตึกอเนกประสงค์ ชั้น 9 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โทรศัพท์ 223-0195, 623-5070, 613-3203-5 โทรสาร 226-2112 (คุณระพีพร วงศ์เหรียญทอง และคุณศิริพร ฟูตระกูล) หรือที่โรงละครแห่งชาติ และหน้างาน โดยรายได้จากการแสดงเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล ตามพระราชอัธยาศัย ในวโรกาส ครบรอบ 72 พรรษา และเพื่อดำเนินกิจการ โครงการอนุรักษ์และบูรณาการศิลปะ และวัฒนธรรม โดยการจัดตั้ง กองทุนนาฏศิลป์และดนตรีไทยเพื่อวิทยาการและชีวิต--จบ--

-นศ-