การศึกษาประสิทธิผลวัคซีน AIDSAWAX B/E มีความคืบหน้าไปมากได้อาสาสมัครครบ 2,500 คนแล้ว

01 Sep 2000

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--กทม.

เมื่อวานนี้ (31ส.ค.43) เวลา 10.30 น. ที่ห้องกษัตริย์ศึก 2 โรงแรมโซลทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวความสำเร็จของโครงการศึกษาประสิทธิผลวัคซีน AIDSWAX B/E ในโอกาสที่ได้อาสาสมัครครบ 2,500 คน โดยมี นพ.ขจิต ชูปัญญา ผู้วิจัยหลัก นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส รองปลัดกรุงเทพมหานคร พญ.สุวณี รักธรรม ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. Dr.Donald Francis ประธานบริษัท Vaxgen,Inc. ผู้ผลิตวัคซีน AIDSWAX B/E , ตัวแทนมหาวิทยาลัยมหิดลและตัวแทนศูนย์ความร่วมมือวิจัยโรคเอดส์ไทย-สหรัฐ ร่วมแถลงข่าว

นพ.ขจิต กล่าวว่า หลังจากที่คณะผู้วิจัยได้ดำเนินโครงการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนเอดส์แวกซ์ บี/อีมาได้ระยะหนึ่ง บัดนี้การดำเนินการสำเร็จไปได้ระดับหนึ่งแล้ว กล่าวคือได้อาสาสมัครครบ 2,500 คนตามเป้าหมาย จึงนับเป็นความก้าวหน้าสำคัญยิ่งของโลกในการรณรงค์ต่อต้านเอดส์ ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาประเทศแรกที่ได้ดำเนินการทดสอบประสิทธิผลวัคซีนป้องกันเอดส์ ซึ่งเป็นการศึกษาขนาดใหญ่เพื่อคนของประเทศ และเรามีความหวังว่าการทดสอบประสิทธิผลวัคซีนเอดส์จะประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งนอกจากจะป้องกันคนไทยแล้วยังอาจจะป้องกันได้ในประเทศอื่น ๆ ด้วย สำหรับอาสาสมัครในโครงการนี้เป็นผู้ฉีดยาเสพติดซึ่งไม่ได้ติดเชื้อเอดส์ สมัครใจโดยตั้งใจทำประโยชน์ให้ส่วนรวม อาสาสมัครผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฉีดวัคซีนเอดส์แวกซ์หรือวัคซีนเลียนแบบ 7 ครั้งในเวลา 3 ปี ระหว่างนี้อาสาสมัครจะได้รับคำปรึกษาแนะนำให้ลด เลิก พฤติกรรมเสี่ยงอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์ ซึ่งทางคณะผู้วิจัยก็ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครเป็นอย่างดี ขณะนี้ส่วนหนึ่งได้รับการฉีดวัคซีนถึงเข็มที่ 5 แล้ว ยังไม่พบผลร้ายที่เกิดขึ้นจากวัคซีนแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าในปี 2545 จะสามารถสรุปผลของโครงการดังกล่าวนี้ได้ สำหรับวัคซีนเอดส์แวกซ์ บี/อี นี้ ผลิตจากโปรตีนสังเคราะห์ขึ้นมาเลียนแบบเปลือกนอกของเชื้อ HIV ไม่ได้ทำจากตัวไวรัส ซึ่งโครงการนี้ได้รับการพิจารณาให้ดำเนินการโดย 6 คณะกรรมการทั้งในประเทศไทย-สหรัฐ และระหว่างประเทศ

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอดส์กว่า 1,500,000 คน ซึ่งมีความต้องการการรักษาอีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย อีกทั้งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษกิจและสังคมโดยรวมด้วย ซึ่งการดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเอดส์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล เข้าใจ และตระหนักถึงแนวทาง วิธีการ ในการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ กรุงเทพมหานครมีความยินดีอย่างยิ่งที่เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนร่วมสำคัญในการค้นคว้าวิจัยโครงการดังกล่าว ซึ่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่น่าได้รับประโยชน์ แต่จะรวมถึงคนทั้งโลกด้วย จึงขอแสดงความยินดีกับคณะผู้วิจัยที่สามารถดำเนินการโครงการไปได้ในระดับที่หน้าพอใจ และตนเชื่อมั่นว่าด้วยความพยายามและความตั้งใจของคณะวิจัย ตลอดจนความร่วมมือของอาสาสมัครจะทำให้การวิจัยประสบความสำเร็จได้ในที่สุด อนึ่งโครงการดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือขององค์กรต่าง ๆ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความร่วมมือวิจัยโรคเอดส์ไทย – สหรัฐอเมริกา และบริษัทแวกซ์เจน--จบ--

-นศ-