เอ็น.ซี.ซี.ฯ ร่วมภาครัฐ-เอกชน จัดงานมหกรรมผัก ผลไม้ และไม้ดอกนานาชาติ 17-19 พ.ค.นี้

16 May 2002

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--เอ็น.ซี.ซี.ฯ

เอ็น.ซี.ซีฯ ร่วมภาครัฐ-เอกชน เตรียมจัดมหกรรมผัก ผลไม้ และไม้ดอกนานาชาติครั้งแรกในไทย ด้านสมาคมพฤกษชาติฯ สบช่องเตรียมขนกล้วยไม้พันธุ์แปลกๆ ใหม่ๆ โชว์ความสวยงามกล้วยไม้ไทยสู่สายตาชาวโลก พร้อมเผยยอดส่งออกไทยปีนี้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

นายยุทธนา ธนวิกสิต นายกสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2545 นี้ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ อิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ร่วมกับ สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย และสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก จะจัดงานแสดงเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ผลไม้ และไม้ดอกนานชาติ หรือ HFF Asia 2002 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

"สำหรับไฮไลท์พิเศษของงานนี้ในส่วนของสมาคมฯ จะจัดสวนหย่อมพันธุ์กล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ๆ หลายสกุลที่แปลกตาหาดูได้ยาก ซึ่งมีสีสันสวยงามมาโชว์ให้คนไทยและชาวต่างประเทศได้ชมกัน นอกจากนี้ ยังนำกล้วยไม้พันธุ์หวายแคระที่กำลังนิยมในขณะนี้มาจัดใส่กระถางและกระเช้าในรูปทรงต่างๆ ให้ได้ชมกันอีกด้วย ซึ่งรูปแบบดังกล่าวถือเป็นแฟชั่นใหม่ที่กำลังได้รับการนิยมในหลายประเทศโดยเฉพาะในตลาดอเมริกา และถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ไทยกำลังผลักดันให้มีการส่งออกให้มากขึ้นจากปัจจุบันมีมูลค่าการส่งออกปีละ 20-30 ล้านบาท ซึ่งทางสมาคมฯ หวังว่าการจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์ความงามของกล้วยไม้เมืองร้อนของไทยออกสู่สายตาชาวโลกแล้ว ยังเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลแลเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาสายพันธ์กล้วยไม้ของไทยในอนาคตอีกด้วย การจัดงานครั้งนี้ จะเป็นการแสดงให้ชาวโลกได้รู้จักกล้วยไม้ของไทยมากขึ้น เพราะงานนี้ถือเป็นงานใหญ่ระดับชาติ ผู้ประกอบการต่างประเทศก็อยากจะมาดูของที่เราจัดแสดง และเราก็อยากจะดูว่าต่างประเทศจะนำอะไรมาจัดแสดงบ้าง เพื่อจะได้นำปรับปรุงพันธุ์ของเราหรือนำมาเปรียบเทียบแล้วนำมาพัฒนาให้แข่งขันกับเขาได้" นายยุทธนา กล่าว

นายยุทธนา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกกล้วยไม้เมืองร้อนประเภทไม้ตัดดอกติดอันดับ 1 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีประเทศส่งออกที่สำคัญคือประเทศญี่ปุ่นคือเป็นร้อยละ 50 ของยอดส่งออกในตลาดทั้งหมด โดยประเภทที่ส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นสกุลหวาย รองลงมายุโรป อเมริกา เอเชีย ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ส่วนประเภทการส่งออกแบ่งเป็นกล้วยไม้ดอกร้อยละ 90 และกล้วยไม้ต้นร้อยละ 10

"ปัจจุบันสหรัฐฯ ให้ความนิยมกล้วยไม้กระถางกันมาก เลยมีความคิดนำมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทย เนื่องจากวิเคราะห์ตลาดแล้วว่าสหรัฐฯ น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ไทยควรจะขยายเข้าไปได้ โดยเฉพาะกล้วยไม้ประเภทกระถางน่าจะไปได้สวย เพราะคนสหรัฐฯ นิยมเป็นของกำนัลในเทศกาลต่างๆ เพื่อใช้เป็นของขวัญ นอกจากนี้ ประเทศไต้หวันก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่นิยมนำกล้วยไม้มาจัดกระถางและจัดกระเช้าของขวัญและใช้ประกอบในการจัดสวนหย่อม" นายยุทธนา กล่าว

นายกสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ไม่นิยมเลี้ยงกล้วยไม้ต้นเพราะประเทศไทยนิยมเลี้ยงไม้ตัดดอกหลังจากตัดดอกแล้วจะนำต้นส่งออกจำหน่ายไปประเทศมาเลเซียและจีนซึ่งประเทศเหล่านี้นำต้นที่ซื้อจากไทยแล้วนำไปตัดดอกต่อ สำหรับกล้วยไม้ของไทยนั้นจะเน้นส่งออกในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ แตกต่างจากคู่แข่งของไทยอย่างมาเลเซียซึ่งจะเน้นคุณภาพเป็นหลัก ปัจจุบันที่เป็นเช่นนี้เพราะมาเลเซียมีพื้นที่ในการปลูกน้อยทำให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ง่าย และนิยมส่งออกในขณะที่ดอกบานถึงร้อยละ 80 ในขณะที่ไทยจะรอดอกบานเพียงร้อยละ 50 ต่อช่อเท่านั้น

"ไทยจะเน้นส่งออกในตลาดล่าง ส่วนสิงคโปร์ มาเลเซีย เน้นส่งออกในตลาดบนหรือตลาดคนรวย สาเหตุที่ไทยไม่เน้นตลาดกล้วยไม้คุณภาพเพราะการเลี้ยงกล้วยไม้คุณภาพจะต้องใช้เวลาเลี้ยงอีก 2 สัปดาห์ สำหรับดอกกล้วยไม้คุณภาพที่ดีนั้น ชาวสวนจะต้องให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของสวนเป็นอันดับแรก ตั้งแต่น้ำจะต้องสะอาดและจะต้องไม่มีขยะตามร่องสวนเพราะขยะถือเป็นตัวนำเชื้อเข้าสู่แปลงกล้วยไม้ได้" นายกสมาคมฯ กล่าว

นายกสมาคม กล่าวต่อว่า แม้กล้วยไม้เมืองร้อนของไทยจะได้รับความนิยมในตลาดโลกอย่างสูงในปัจจุบัน แต่อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการประชาสัมพันธ์ความสวยงามของกล้วยไม้ไทยให้นานาประเทศรู้จักให้กว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเห็นว่ากล้วยไม้ไทยยังมีช่องทางการตลาดที่ดีได้ในอนาคต และควรให้การสนับสนุนการจัดแสดงและการประกวดพันธุ์กล้วยไม้ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นให้ชาวสวนพัฒนาสายพันธ์กล้วยไม้ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม นายยุทธนา ได้ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันไทยยังขาดฟลาวเวอร์ เซ็นเตอร์ ที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลทั้งด้านการผลิต การตลาด และการส่งออก ตลอดจนเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ใหม่ๆ อยากฝากไปถึงภาครัฐชาวสวนไม้ต้องการสนามหลวง 2 แต่ต้องการการสนับสนุนทางด้านข้อมูลการผลิตปรับปรุงพันธุ์และการตลาดที่ยั่งยืนมากกว่า--จบ--

-สท-