ปตท.ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ กรุงเทพโปรดิ๊วส ใช้ก๊าซธรรมชาติ ผลิตกระแสไฟฟ้า ระบบ “โคเจนเนอเรชั่น”

09 May 2002

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--ปตท..

เผยเป็นรายแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการอนุรักษ์พลังงาน ตามโครงการนำร่องของบริษัทจัดการพลังงาน สามารถประหยัดต้นทุนได้ปีละ 48 ล้านบาท

วันนี้ (8 พฤษภาคม 2545) ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซ่า ได้มีพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำด้วยระบบ “Cogeneration ” โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงนามร่วมกับ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้แทนของบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน)

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำร่วม หรือที่เรียกว่า“Cogeneration ” เป็นโครงการอนุรักษ์พลังงานและนโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นโครงการที่ภาครัฐบาล โดยมีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้การสนับสนุน

บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส ฯ นับว่าเป็น บริษัทเอกชนรายแรกในปีนี้ ที่ตัดสินใจใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำใช้เองในโรงงาน ด้วยระบบ “Cogeneration ” ซึ่งเป็นระบบที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นบริษัทแรกที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการนำร่องของบริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ เอ็นเนอร์ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EEI) ซึ่งเป็นบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) โดย ปตท. จะส่งก๊าซธรรมชาติให้กับบริษัทฯ ในปริมาณเฉลี่ยวันละ 1.1 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับการผลิตไฟฟ้า ขนาด 4.58 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายก๊าซฯ ตลอดอายุสัญญา 10 ปี ประมาณ 590 ล้านบาท และจะทำให้ประเทศไทยลดการนำเข้าน้ำมันเตาได้ถึงปีละประมาณ 10 ล้านลิตร

นายประเสริฐ กล่าวว่า การใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำ ด้วยระบบ “โคเจนเนอเรชั่น” เป็นระบบที่ ปตท. เห็นว่าเป็นการใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดภาระการลงทุนในการสำรองกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ และที่สำคัญ ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด

ปัจจุบัน ปตท. ส่งก๊าซธรรมชาติให้ลูกค้าอุตสาหกรรมประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มีลูกค้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงอยู่ทั้งหมด 145 ราย และเป็นในส่วนที่ใช้ระบบ“โคเจนเนอเรชั่น “ ทั้งหมด 12 ราย และในปีนี้ ปตท. มีโครงการที่จะขยายตลาดในส่วนของก๊าซธรรมชาติไปยังโรงงานอุตสาหกรรมอีก 50 ราย ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายหลังที่ บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินระบบ “Cogeneration ”บริษัทจัดการด้านพลังงาน(ESCO)ได้เข้ามาดำเนินการติดตั้งระบบ “Cogeneration ” ให้แก่บริษัทฯ พร้อมมีการรับประกันผลการประหยัดตลอดระยะเวลาการคืนทุน ซึ่งเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทฯ ในการตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ โดยบริษัทฯ มีโครงการติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าจากระบบดังกล่าวขนาด 4.58 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม 2545 คาดว่าจะสามารถประหยัดต้นทุนพลังงานที่บริษัทใช้อยู่เดิมได้ประมาณปีละ 48 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะปล่อยออกสู่บรรยากาศได้ถึงประมาณ 1,800 ตันต่อปี และลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ถึงประมาณ 300 ตันต่อปี ซึ่งจะส่งผลทำให้พนักงานของบริษัทฯ ตลอดจนชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงมีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อไป

สำหรับบริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด(มหาชน) เป็นบริษัทลูกของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ฯทำธุรกิจไก่สดแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อไก่ มีโรงงานตั้งอยู่ที่ ถ.มิตรภาพ ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ทั้งนี้ บริษัทฯได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการนำร่องบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO Pilot Project) ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์พลังงานที่ กฟผ. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดย ธนาคารโลกได้ให้เงินสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดบริษัทที่ทำธุรกิจจัดการพลังงาน (Energy Service Company , ESCO) ในประเทศไทย เป็นเงิน 200 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน โดยมีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเป็นหน่วยงานดูแลกองทุน และคณะกรรมการกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ได้อนุมัติเงินสนับสนุนค่าดอกเบี้ยเป็นเงิน 60 ล้านบาท

อนึ่ง การผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำใช้เองภายในโรงงาน ด้วยระบบ “Cogeneration ” เป็นแนวทางหนึ่งของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีหลายรูปแบบ อาทิ ส่งเสริมให้ผู้ผลิตดำเนินการเอง ส่งเสริมให้บริษัทจัดการไฟฟ้าเข้าไปดำเนินการให้แก่โรงงาน เป็นต้น ซึ่งผลจากโครงการฯดังกล่าว นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานและงบประมาณของประเทศในการลงทุนระบบไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตของบริษัทฯ และที่สำคัญช่วยลดปัญหาเรื่องมลภาวะ--จบ--

-สส-