สธ. ดันเมืองน่าอยู่เข้าพัฒนาสาธารณสุขท้องถิ่น พร้อมหนุนโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพควบคู่กัน

30 Apr 2002

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--กระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น เตรียมผลักดันกลยุทธ์เมืองน่าอยู่และโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเข้าพัฒนาสาธารณสุขท้องถิ่น หวังให้ประชาชนทุกวัยมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ภายใต้การพึ่งพาตนเองของท้องถิ่น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนองค์ความรู้และกระบวนการดำเนินงาน

นายแพทย์มงคล ณ สงขลา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง “สุขภาพคนไทยในท้องถิ่นน่าอยู่” ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ภายหลังจากที่ รัฐบาลได้กำหนดนโยบายสร้างเสริมสังคมให้เข้มแข็ง และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้สามารถพัฒนา ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างอิสระ และเกิดผลดียิ่งขึ้น ประกอบกับแผนพัฒนาสาธารณสุข ฉบับที่ ๘ และ ๙ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมในสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ โดยให้คนมีส่วนร่วมในการพัฒนานั้น กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการส่งเสริมคนทุกอาชีพ ทุกวัย ให้มีสุขภาพอนามัยดีทั้งกายใจอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ คนไทยสามารถดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้จริง ซึ่งจะลดความเจ็บป่วยล้มตายโดยไม่จำเป็นลงได้ อันจะทำให้ประเทศเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรอให้เจ็บป่วยแล้วจึงรักษา ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขมอบให้กรมอนามัยนำกลยุทธ์เมืองน่าอยู่จากองค์การอนามัยโลก และโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเข้ามาปรับใช้ในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นแนวทางการควบคุมและพัฒนาสุขภาพตนเองโดยชุมชนให้มีสุขภาพดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

สำหรับการดำเนินงานตามกลยุทธ์เมืองน่าอยู่ และโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนั้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นหน่วยงานให้ความรู้ด้านวิชาการ และรูปแบบการดำเนินงานตามกลยุทธ์เมือง น่าอยู่ ส่วนชุมชนในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ที่มีประสบการณ์และความชำนาญในท้องถิ่น มากกว่าส่วนกลาง จะมีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการตามกิจกรรมตามสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่ ซึ่งในปี ๒๕๔๔ นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป้าหมายขยายแนวร่วมเมืองน่าอยู่สู่ท้องถิ่น ในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน ๑,๐๒๒ อบต. และเทศบาล จำนวน ๒๒๖ เทศบาล ตลอดจนมีโรงเรียนสนใจเข้าร่วมโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพปี ๒๕๔๓ จำนวน ๔๘๙ โรงเรียน และปี ๒๕๔๔ อีกจำนวน ๑๙๓ โรงเรียน

นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมการดำเนินงานตามกลยุทธ์เมืองน่าอยู่ เพื่อให้พื้นที่เลือกดำเนินการตามความเหมาะสมกับสภาพปัญหาในท้องถิ่น มีจำนวน ๑๖ กิจกรรม ประกอบด้วย ๑) ปรับปรุงร้านอาหารและแผงลอยในอบต. ๒) ควบคุมเฝ้าระวังสถานประกอบการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในอบต. ๓) ตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มโดยชุมชน ๔) ประสานงานโครงการประปาดี ๒๔ ชั่วโมง ๕) มีส่วนร่วมในการออกข้อกำหนดท้องถิ่นตามพรบ.สาธารณสุข ๒๕๓๕ ๖) จัดการน้ำเสียชุมชน ๗) จัดการขยะชุมชน ๘) เฝ้าระวังคุณภาพแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค ๙) จัดสถานที่พักผ่อนชุมชน ๑๐) ส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์เพื่อทารกแรกเกิดน้ำหนักดี ๑๑) ควบคุมและป้องกันโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ๑๒) ส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย ๑๓) ดำเนินงานให้เป็น โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ๑๔) เฝ้าระวังภาวะการเจริญเติบโตและการให้อาหารเสริม (นม) สำหรับเด็กนักเรียน ๑๕) สนับสนุนกิจกรรมการวางแผนครอบครัว และ ๑๖) สนับสนุน กิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ

การจัดสัมมนาสุขภาพคนไทยในท้องถิ่นน่าอยู่ กำหนดจัดให้มีขึ้น ๔ ครั้ง ๔ ภาค ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปลัดเทศบาล ประธานและปลัดอบต. ผู้บริหารและนักวิชาการจากกระทรวง สาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง รวมทั่วประเทศ ประมาณ ๕,๐๐๐ คน สำหรับการจัดสัมมนาในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการจัดสัมมนาครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ ๑,๐๐๐ คน โดยคาดว่าการสัมมนาครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้าสัมมนาในพื้นที่มีความเข้าใจวิธีการดำเนินงานตามกลยุทธ์เมืองน่าอยู่และโรงเรียน ส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งสามารถนำมาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น--จบ--

-ตม-