กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
วันอังคารที่ 29 มกราคม 2545 เวลา 10.00-12.00 น ณ ห้องสโรชา โรงแรมอโนมา
I. ภาวะตลาดตราสารหนี้
ดร. สมชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยได้แถลงถึงภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2544 รวมถึงแนวโน้มของตลาดในปี 2545 โดยมีรายละเอียดดังนี้
ภาวะตลาดตราสารหนี้ปี 2544
ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดแรกและตลาดรอง ในปี 2544 มีปริมาณตราสารหนี้ที่ออกเสนอขายมูลค่าทั้งสิ้น 866.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่มีการออกเสนอขาย 597.9 พันล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าคงค้างของตลาดตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.18 เป็น 1,882.9 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เทียบกับมูลค่าคงค้าง 1,634.8 พันล้านบาทในปี 2543 ด้านตลาดรองมูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้รวม 1,592.2 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 6,472.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 5,494 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ในปีนี้มีความผันผวนทั้งจากปัจจัยภายในและผลกระทบจากภายนอก อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ มีความผันผวนตลอดทั้งปี โดยในช่วงต้นของไตรมาสแรก อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากผู้ลงทุนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในระยะสั้น ขณะที่ช่วงท้ายของไตรมาสแรก อัตราผลตอบแทนได้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแรงเทขายและภาวะตื่นตระหนกของนักลงทุน ต่อเนื่องถึงช่วงปลายของไตรมาสที่ 2 การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินหลังการเข้ามารับตำแหน่งของผู้ว่า ธปท คนใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนทำให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 3 จนถึงสิ้นปี การก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้อัตราผลตอบแทนกลับปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
อัตราผลตอบแทนเมื่อวัดจากดัชนีพันธบัตรรัฐบาลในปี 2544 อยู่ที่ร้อยละ 8.33 ต่อปี ลดลงจากร้อยละ 14.28 ในปี 2543 ส่วนผลตอบแทนของหุ้นกู้ภาคเอกชนวัดจากดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชน (Corporate Index) โดยคำนวณเฉพาะหุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับอยู่ในระดับ Investment Grade ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป นับจากวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ซึ่งเป็นวันแรกของการคำนวณดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชน คิดเป็นอัตราผลตอบแทนร้อยละ 12.40 ต่อปี
การจัดอันดับผู้ค้าตราสารหนี้สูงสุด 10 อันดับแรก
ในกลุ่มผู้ค้าตราสารหนี้ในปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณการทำธุรกรรมสูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่ ธนาคารฮ่องกงและเแบงก์กิ้งมีสัดส่วนร้อยละ 11.38 ของปริมาณการทำธุรกรรมทั้งหมด ขึ้นจากอันดับที่ 5 ในปี 2543 รองลงมา ได้แก่ ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร เอ็น.วี.ร้อยละ 8.9 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง อันดับ 3 คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ร้อยละ 8.81 ปรับเพิ่มจากอันดับที่ 10 ของปีที่ผ่านมา ตามมาด้วย ธนาคารดอยซ์แบงก์ เอจี ร้อยละ 8.78 ธนาคารกสิกรไทยร้อยละ 8.39 ธนาคารกรุงเทพร้อยละ 8.26 ธนาคารเอเชียร้อยละ 8.18 ธนาคารซิตี้แบงก์ ร้อยละ 6.11 ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ร้อยละ 5.81 และ บล.เมอริลลินซ์ภัทร ร้อยละ 5.28
แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ปี 2545
อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงในช่วงต้นปีแต่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
การชะลอตัวของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อเนื่องจากปี 2544 มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยอ่อนตัวในช่วงต้นปี นอกจากนี้ความไม่แน่ชัดในวิธีการออกพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูจำนวน 320 พันล้านบาท เป็นปัจจัยที่สำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนตลอดจนการปรับเพิ่มขึ้นของเส้นอัตราผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ได้ อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีก็จะเป็นแรงสนับสนุนต่อการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนได้
การออกตราสารหนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล
ด้านการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในปี 2545 คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะการออกพันธบัตรรัฐบาลที่มีตัวเลขการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลสูงถึง 220 พันล้านบาท ส่วนการออกพันธบัตรเพื่อปรับโครงสร้างของกองทุนฟื้นฟูจำนวน 320 พันล้านบาท นั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าจะออกเป็นพันธบัตรหรือระดมเงินจากตลาดเงินระยะสั้นต่อไป ด้านรัฐวิสาหกิจคาดว่าจะมีการออกพันธบัตรจำนวนประมาณ 88 พันล้านบาท ส่วนการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 100 พันล้านบาท ทั้งนี้จากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำปริมาณการซื้อขายคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง
สำหรับปริมาณธุรกรรมในตลาดรองตราสารหนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมาหรือสูงกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชนตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การเริ่มต้นของตลาดซื้อคืนภาคเอกชน การพัฒนาระบบข้อมูลและระบบซื้อขายเป็นต้น แม้จะยังคงมีปัจจัยลบจากความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ก็ตาม
II. สรุปผลงานศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยปี 2544
คุณณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยได้แถลงถึงผลงานในปีที่ผ่านมาของศูนย์ซื้อขายฯพร้อมทั้งแผนงานในปีนี้โดยมีรายละเอียดดังนี้
1 การพัฒนาเครื่องมือและข้อมูลข่าวสารของตลาด ได้แก่
- การเผยแพร่อัตราผลตอบแทนและราคาอ้างอิงของตราสารหนี้ทุกประเภท ได้แก่ การจัดทำและเผยแพร่ราคาและอัตราผลตอบแทนอ้างอิงของตราสารหนี้ทั้งพันธบัตรภาครัฐและหุ้นกู้เอกชน โดยเผยแพร่เป็นรายวัน ซึ่งครอบคลุมทุกตราสารที่ขึ้นทะเบียนกับศูนย์ซื้อขายฯ เป็นการอำนวยความสะดวกในการใช้ Mark-to-market
- การจัดทำดัชนีตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน ( Bond Index) เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับติดตามภาวะความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้และใช้เปรียบเทียบผลการลงทุน โดยศูนย์ซื้อขายฯได้เริ่มจัดทำดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมาตั้งแต่มกราคม 2543 และได้จัดทำดัชนีอื่นเพิ่มเติมในปี 2544 ดังนี้
1) ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลแยกตามกลุ่มอายุ (Maturity Subgroup) ทำให้สะท้อนภาวะตลาดตามกลุ่มอายุตราสารได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มอายุ 1-3 ปี 2) กลุ่ม 3-7 ปี 3) กลุ่ม 7-10 ปี และ 4) กลุ่มมากกว่า 10 ปี
2) ดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชน Investment Grade Corporate Bond Index ประกอบด้วยหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีการจ่ายดอกเบี้ยคงที่ และมีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป
- การพัฒนาปรับปรุงข้อมูลที่ให้บริการผ่าน Bond Information Service ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศตราสารหนี้ และปรับปรุง Website ของศูนย์ซื้อขายฯ (www.thaibdc.or.th) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน
2. การจัดทำมาตรฐานของตลาดตราสารหนี้ (MARKET CONVENTION & STANDARD)
- ธุรกรรมซื้อคืน ในด้านกฎหมาย จัดทำ Thailand Annex เพื่อใช้ประกอบสัญญามาตรฐานที่ใช้ในการทำธุรกรรม ในด้านบัญชี ได้จัดทำแนวทางการลงบัญชีโดยได้รับการเห็นชอบจากสมาคมนักบัญชีฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และในด้านภาษีได้เสนอต่อกรมสรรพากรให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการโอนและอากรแสตมป์ที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกรรม โดยพรก. ยกเว้นภาษีดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคม
3. แก้ไขข้อบังคับที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนตราสารหนี้ เพื่อให้เปิดกว้างสำหรับหุ้นกู้ที่มีลักษณะใหม่ๆ เช่น หุ้นกู้ที่เกิดจากการปรับปรุงโครงสร้าง และ หุ้นกู้ประเภท Securitized Bond เป็นต้น
4. ระบบการซื้อขายตราสารหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการคัดเลือกผู้ให้บริการระบบ และจัดทำ Trading Practice และ Convention ที่เหมาะสม จัดให้มีการพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลในแบบ Online Real-time
5. การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้
- การจัดทำหนังสือและแผ่นพับต่างๆเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ ได้แก่ ก้าวสู่การลงทุนในตลาดตราสารหนี้, Thai Bond Market 2001
- การจัดอบรมสัมมนาต่างๆ ได้แก่ Investment Opportunities through Repo Market, An Advanced Course on Risk Management for Practitioners, Thai Bond Market 2002 :Outlook and Opportunities
- การเข้าร่วมเป็นวิทยากรและออกบูธในงาน Investor Fair
- การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรเจ้าหน้าที่การตลาดตราสารหนี้
III. แผนงานปี 2545วิสัยทัศน์ (Vision) เป็นศูนย์กลางในการจัดการตลาดและการค้าตราสารหนี้ของประเทศไทย ให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย
แผนงานที่สำคัญในปี 2545
1. การพัฒนาระบบการซื้อขายตราสารหนี้
- การพัฒนา E-Trading Platform และ Real-time Quotation ภายในปี 2545
- พัฒนาระบบสนับสนุนการซื้อขายตราสารหนี้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายในปี 2546
2. การกำหนดมาตรฐานและวิธีปฏิบัติของตลาด
- การจัดทำ Trading Convention ที่เหมาะสม
- จัดทำ Repo Market Convention เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรม
- การกำหนดและจัดทำมาตรฐานกลางของสูตรคำนวณราคาตราสารหนี้
3. การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนร่วมในตลาด
- การจัด Annual Conference และสัมมนาต่างๆ
- การจัดอบรมสัมมนาแก่นักลงทุนประเภทต่างๆและประสานงานกับสถาบันการศึกษาต่างๆ
- การจัดทำหนังสือและสิ่งพิมพ์ทางวิชาการต่างๆ
4. การจัดอันดับ Dealer, Issuer และ Underwriter of the Year
5. การพัฒนาตลาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดทำเครื่องมือใหม่ๆสำหรับใช้ประกอบการวิเคราะห์การลงทุนในตลาด เช่น การจัดทำ Spot Curve การปรับปรุง ThaiBDC Website ให้มีฟังก์ชันการทำงานที่สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงการศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ เช่น Securitized bonds, Structured Notes, Derivatives เป็นต้น (ยังมีต่อ)
-อน-
SCBX คว้ารางวัล Issuer of The Year จากงานมอบรางวัลตราสารหนี้ยอดเยี่ยมแห่งปี 2567 (ThaiBMA Best Bond Awards 2024) จัดโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เพื่อยกย่ององค์กรและบุคลากรที่มีความโดดเด่นในธุรกรรมตราสารหนี้ และส่งเสริมให้องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยรางวัล Issuer of The Year ที่ SCBX ได้รับในครั้งนี้ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ออกหุ้นกู้ที่มีบทบาทโดดเด่นในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนโดยการออกตราสารหนี้อย่างต่อเนื่องเป็นที่ยอมรับจากนักลงทุนในวงกว้าง
20 มีนาคม 2568 10:09 น.
ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมธนาคารไทย จับมือ ก.ล.ต. CMDF สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดตัว DIF Web Portal ให้บริการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนด้วยกระบวนการทางอิ...
มิ.ย. 66