ทีเอเป็นบริษัทธรรมาภิบาลจากการสำรวจของนิตยสารยูโรมันนีเมื่อเร็วๆ นี้

13 Aug 2002

กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--ธอร์มสัน พีอาร์

นิตยสารยูโรมันนี ซึ่งเป็นนิตยสารด้านการเงินที่มีชื่อเสียงของโลกได้ทำการสำรวจไปยังบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก 650 แห่ง และได้รับข้อมูลกลับมา 214 แห่ง ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว พบว่า บริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ ทีเอ ได้รับการประกาศให้เป็นที่มีธรรมาภิบาล โดยเป็นบริษัทเดียวในสาขาสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย

หลักการสำคัญที่นิตยสารยูโรมันนีใช้ในการพิจารณา ได้แก่ ความโปร่งใสของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น (Ownership transparency) ความโปร่งใสด้านการเงิน (Financial transparency) โครงสร้างของคณะกรรมการบริหารและการดำเนินงาน (Board structure and process) ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้น (Shareholder relations) และแนวทางบริหารจัดการและให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้น (Alignment of managerial and shareholder interests)

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานหัวหน้าคณะผู้บริหาร บริษัทเทเลคอมเอเซียฯ กล่าวถึงการได้รับการยอมรับให้เป็นบริษัทธรรมาภิบาลดังกล่าวว่าจากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าหลักการของ “ธรรมาภิบาล” ก็คือ การสร้าง “ความไว้วางใจ”ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย ตั้งแต่ผู้ถือหุ้น พนักงาน ผู้บริหาร สถาบันการเงินที่มีส่วนสนับสนุนบริษัทฯ รัฐบาล รวมไปถึงลูกค้า และประชาชนในสังคมโดยรวม

ทีเอ เป็นภาคเอกชนที่เข้ามารับสัมปทานและร่วมทำงานกับภาครัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2534 เพื่อบริการโทรศัพท์พื้นฐาน 2.6 ล้านเลขหมาย ในเขตนครหลวงต่อมาได้ขยายขอบเขตเข้าสู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสื่อประสมด้วย

ทีเอเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการเกษตร มากว่า 80 ปีแล้ว โดยเครือซีพีกำเนิดขึ้นจากสมาชิกในครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง คือ “เจียไต๋” ได้นำเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตรเข้ามาจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ซึ่งปรากฏว่าได้รับ “ความไว้วางใจ” จากเกษตรกรว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีที่สุด สามารถนำไปเพาะปลูกแล้วให้ผลผลิตดีที่สุด

เมื่อได้รับความไว้วางใจอย่างกว้างขวาง ธุรกิจก็ขยายตัวต่อเนื่องออกไป จนกระทั่งเครือซีพีได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการเกษตรธุรกิจค้าปลีก และเติบโต กลายเป็นธุรกิจข้ามชาติ ต่อจากนั้นยังได้รับการเชิญชวนจากภาครัฐให้เข้าร่วมพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ จากลักษณะความเป็นมาเหล่านี้ จะเห็นว่า ธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยก็เริ่มต้นด้วยลักษณะของสมาชิกในครอบครัวมาร่วมมือกันสร้างธุรกิจขึ้นและต่อมาเมื่อธุรกิจขยายเติบโตขึ้นมีผู้ถือหุ้นมากขึ้น ก็จะต้องมีธรรมาภิบาลหรือความไว้วางใจกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว

ธรรมาภิบาลเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีแม้แต่ในธุรกิจครอบครัว ธุรกิจของเครือซีพีที่เริ่มต้นจาก 4 พี่น้อง ซึ่งพี่น้องต่างก็ให้ความไว้วางใจกันและกันทุกคนทำงานหนักทุ่มเท เสียสละ และโปร่งใสเพื่อความสำเร็จร่วมกัน การทำธุรกิจแบบภายในครอบครัวดังกล่าว หากไม่มีการสื่อสารที่เพียงพออาจทำให้แต่ละฝ่ายไม่เข้าใจหรือไม่กระจ่างธุรกิจก็อาจเกิดปัญหาได้ เช่นเดียวกันกับองค์กรใดก็ตามผู้นำองค์กรต้องมีความเสียสละ ทุ่มเทเข้าใจธุรกิจและกระบวนการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจ ความไว้วางใจ และความโปร่งใส ให้เกิดขึ้น

เทเลคอมเอเซียเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 3 ฝ่าย คือ เครือซีพี เวอร์ไรซอน(Verizon) จากประเทศสหรัฐอเมริกา และ Kreditantstalt Fuer Wiederaufbau หรือ KfW ซึ่งเป็นสถาบันการเงินจากประเทศเยอรมนี และยังมีผู้ถือหุ้นรายย่อยอีกกว่า 25,000 ราย การมีหุ้นส่วนจากต่างประเทศ และมีสมาชิกอื่นๆ อีกมากมายยิ่งทำให้เกิดคำถามมากขึ้น มีข้อสงสัยมากขึ้น บริษัทจึงต้องสื่อสารให้โปร่งใส และให้ข้อมูลกับทุกฝ่ายให้มากเพื่อให้เกิดความไว้วางใจขึ้น ในเส้นทางการเป็น “บริษัทธรรมาภิบาล”ของเทเลคอมเอเซียนั้นบริษัทได้ดำเนินการปรับองค์กรหลายอย่าง อาทิ

1. การนำระบบบัญชีสากล (International Accounting Standard) มาใช้ในการจัดการและบริหารด้านการเงิน การบัญชี และการลงทุน

2. การแต่งตั้ง หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน ( CFO : Chief Financial Officer)

มาจาก Verizon สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรของบริษัทตั้งแต่เริ่มกิจการ โดยที่จริงแล้วตำแหน่งนี้เป็นส่วนของเครือซีพี แต่เพื่อความโปร่งใส บริษัทจึงเชิญผู้บริหารจาก Verizon เข้ามาดูแลงานในส่วนนี้

3.การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit committee)

ซึ่งทำงานอย่างเต็มที่ และมีความเป็นอิสระ โดยคณะกรรมการชุดนี้สามารถแต่งตั้งและถอดถอนฝ่ายตรวจสอบภายในของบริษัทได้ที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจสอบได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบหลายด้าน รวมทั้งในเรื่องการบริหารความเสี่ยง ( Risk management) ด้วย

4. การแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระ (Independent Committee)

คณะกรรมการชุดนี้มาจากกลุ่มผู้ถือหุ้นฝ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงเมื่อครั้งที่เทเลคอมเอเซียจะขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ TA – Orange ในปัจจุบัน โดยการเข้าไปลงทุนในบริษัท กรุงเทพอินเตอร์เทเลเทค จำกัด หรือ BITCO ซึ่งมีเครือซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BITCO

กรณีดังกล่าวสร้างความสงสัยและความคลางแคลงใจให้หลายฝ่ายพอสมควร แต่ในที่สุดก็สามารถดำเนินการสำเร็จลงด้วยความโปร่งใสจนเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย กล่าวคือ ในกระบวนการเจรจาซื้อหรือแลกเปลี่ยนหุ้นครั้งนั้นกรรมการที่เป็นตัวแทนของเครือซีพีซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องในการพิจารณาด้วยเลย แต่ได้มอบให้คณะกรรมการที่เป็นอิสระชุดนี้ (Independent Committee) ทำงานอย่างเต็มที่ โปร่งใสและรับฟังความเห็นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยด้วย

นอกจากนั้น บริษัทยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพิ่มเติมซึ่งได้แก่

  • คณะกรรมการด้านการเงิน (Finance Committee) เป็นคณะกรรมการที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลด้านการเงินและการลงทุนต่างๆเช่น การศึกษาโครงการขยายการลงทุนต่างๆ และให้คำแนะนำแก่บริษัทว่าควรจะเข้าลงทุนหรือไม่ รวมทั้งมีหน้าที่กลั่นกรองด้านงบประมาณ เป็นต้น
  • คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนและสรรหากรรมการ (Compensation and Nominating Committee) เข้ามาทำหน้าที่กำหนดค่าตอบแทนกรรมการ และทำหน้าที่สรรหากรรมการของบริษัท

การดำเนินงานทั้งหลายนี้เป็นส่วนที่บริษัทได้สร้างความโปร่งใสและให้เกิดการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม เพื่อก่อให้เกิดความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้นที่หลากหลายของบริษัท

การที่ประเทศไทยมีวัฒนธรรมในการดำเนินธุรกิจที่เริ่มจากครอบครัวมายาวนาน ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมของต่างประเทศ การที่จะนำเอาสิ่งใหม่มาปรับเข้ากับวัฒนธรรมเดิมนั้น หากนำเข้ามาเร็วเกินไปอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ ซึ่ง“ธรรมาภิบาล” ก็คือการที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายได้อย่างโปร่งใส

ดังนั้น เมื่อบริษัทคนไทยก้าวเข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชนแล้วต้องมีการปรับกระบวนการระหว่างผู้ถือหุ้นและการบริหารจัดการอย่างมากซึ่งการเป็นบริษัทธรรมาภิบาลในประเทศไทยต้องได้รับการพิสูจน์ต่อไป

เทเลคอมเอเซีย มุ่งมั่นที่จะมีการบริหารจัดการให้องค์กรเป็นทั้ง “คนดี” และ “คนเก่ง” ดังนั้น บริษัทจึงต้องการเห็นการกำกับดูแลที่มีลักษณะ “สนับสนุน” ไม่ใช่ “การจับผิด” อันจะทำให้ฝ่ายบริหารองค์กรทำงานได้อย่างเต็มที่และสามารถนำผลกำไรมาสู่องค์กรได้ในที่สุด นายศุภชัยยังได้กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานในองค์กรของเทเลคอมเอเซียที่ได้ยึดหลักการ หรือกลยุทธ์เพื่อนำมาสร้างวัฒนธรรมองค์กร คือ กลยุทธ์ 3 C นั่นคือ เอาใจใส่ (Caring) เชื่อถือได้ (Credible) ใฝ่สร้างสรรค์ (Constructive)

กลยุทธ์นี้เป็นพื้นฐานในการสร้างคุณค่าและการเป็นบริษัทธรรมาภิบาลให้กับองค์กร โดยเมื่อพนักงานของบริษัทยึดหลักการไปปฏิบัติแล้ว จะเกิดคุณค่าทั้งแก่ลูกค้า ผู้ใช้บริการ ตลอดจนประชาชนและส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทต่อผู้ถือหุ้นในที่สุด

“ผมพูดกับพนักงานเสมอว่าธรรมาภิบาลขององค์กรจะสะท้อนผ่านบุคลากรทุกคนในองค์กร และการที่ได้หล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กรเหล่านี้ขึ้นมาโดยการสร้างความเชื่อถือ ไว้วางใจให้เกิดขึ้น เป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ธรรมาภิบาลจะคงอยู่กับองค์กรนั้นอย่างถาวร ยั่งยืนไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารไปกี่คนก็ตามการที่เทเลคอมเอเซียได้รับการประกาศให้เป็นบริษัทธรรมาภิบาลจากนิตยสารยูโรมันนีนั้นนับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันนั้นก็คือบริษัทเห็นว่าในฐานะที่เป็นบริษัทมหาชน เป็นองค์กรขนาดใหญ่ บริษัทจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและห่วงใยสังคมในฐานะที่เป็น Good Corporate Citizen ด้วย

เทเลคอมเอเซียเชื่อมั่นว่า นอกจากการดำเนินงานที่ดีโปร่งใส และมีบริการที่ดีให้ลูกค้าแล้ว บริษัทยังต้องสร้างคุณค่าให้สังคมด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาประเทศชาติได้รับความบอบช้ำ และส่งผลกระทบด้านลบต่อสังคมเป็นอันมาก เทเลคอมเอเซียได้เริ่มรณรงค์โครงการ “รัก เคารพ เรียนรู้ …คนดีสร้างชาติไทย” ขึ้น โดยเรามีความเชื่อมั่นว่า หากคนไทยทุกคน มีความรัก ความห่วงใยกันเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทุกคนจะมาร่วมกันสร้างชาติไทย ทำบ้านเมืองให้มั่นคง และผ่านพ้นวิกฤติได้ในที่สุด ภายใต้โครงการดังกล่าว บริษัทได้รณรงค์และเผยแพร่คำขวัญแก่สังคม ดังนี้

“ประเทศจะก้าวไกล ถ้าคนไทยใฝ่เรียนรู้”

“ถ้าเราหยุดเรียนรู้ เมืองไทยจะหยุดก้าวหน้า”

“สังคมไทยจะสงบ ถ้าคนไทยเคารพกันและกัน”

“อย่าให้การเคารพ ลบเลือนจากสังคมไทย”

“บ้านเมืองจะพ้นภัย ถ้าคนไทยรักกัน”

“ความรัก คือพลังสร้างชาติ”

นอกจากนั้น เทเลคอมเอเซียก็ได้สร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้และเป็นพลังในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป ภายใต้โครงการห้องเรียนธรรมชาติ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนวัฒนธรรม ห้องเรียนไอที ห้องเรียนดนตรี โครงการห้องเรียนอินเตอร์เน็ตสำหรับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โครงการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และโครงการประกวดภาพถ่ายเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” เป็นต้น

“เราเชื่อมั่นว่า สังคมไทยจะมั่นคง และยั่งยืนอยู่ได้ด้วยคนดีทุกคนมาช่วยกันสร้างชาติไทยของเรา” นายศุภชัยกล่าวในท้ายที่สุด

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ทีเอ 064 (08/08/2545)

รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

คุณณวนุช / คุณวรภา โทร. 0-2699-2052 / 0-2699-2057

และคุณพรทิภา โทร. 0-2260-0820 # 3142--จบ--

-ศน-