กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--จุฬาฯ
โครงการมูลนิธินิปปอนเพื่อปัญญาชนสาธารณะเอเชีย ขอเชิญผู้สนใจที่เป็นนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ เสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนวิจัย สำหรับประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ปัญญาชนอาวุโส และปัญญาชนรุ่นเยาว์
คุณสมบัติทั่วไป
๑. ผู้สมัครต้องเกิดหรืออาศัยอย่างถาวรอยู่ในประเทศภาคีที่เข้าร่วมโครงการห้าประเทศ และต้องกำลังพำนักอยู่ในประเทศนั้นในระหว่างการสมัครขอรับทุน
๒. ผู้สมัครต้องมีความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษหรือภาษาในประเทศที่ตนเองจะเดินทางไปทำวิจัยและหรือดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นระบบ
๓. ผู้สมัครที่เสนอขอทุนทำโครงการเป็นระยะเวลานานกว่า ๖ เดือน ต้องสามารถเดินทางออกนอกประเทศที่พำนักเพื่อดำเนินการตามโครงการวิจัยหรือโครงงานกิจกรรมอย่างเป็นระบบ ในช่วงระหว่างวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
๔. ผู้สมัครที่เสนอขอทุนทำโครงการเป็นระยะเวลาน้อยกว่า ๖ เดือน จะต้องสามารถเดินทางออกนอกประเทศที่พำนักเพื่อดำเนินการตามโครงการวิจัยหรือโครงงานกิจกรรมอย่างเป็นระบบ ในช่วงระหว่างวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ ถึง ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗
โครงการทุนปัญญาชนสาธารณะเอเชียระดับอาวุโส ผู้สมัครจะต้อง
๑. มีอายุ ๓๕ ปี ขึ้นไป
๒. มีความสามารถและประสบการณ์ที่จะทำการวิจัย และ/หรือดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นระบบในประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่ผู้สมัครพำนักอยู่อย่างถาวร
๓. สามารถดำเนินตามโครงการวิจัย และ/หรือดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นระบบตามที่เสนอในประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ๑ ประเทศหรือมากกว่านั้น (นอกเหนือจากประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่ผู้สมัครพำนักอยู่อย่างถาวร)
๔. สามารถดำเนินการตามโครงการวิจัย และ/หรือดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นระบบตามที่เสนอเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ตั้งแต่ ๑-๑๒ เดือน
โครงการทุนปัญญาชนสาธารณะเอเชียรุ่นเยาว์ ผู้สมัครจะต้อง
๑. มีอายุน้อยกว่า ๓๕ ปี ในช่วงของการสมัคร
๒. มีความสามารถและความปรารถนาที่จะทำการวิจัย และ/หรือดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นระบบในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่ผู้สมัครพำนักอยู่อย่างถาวร
๓. มีศักยภาพสูงในการส่งเสริมกิจการในสาขาของตนให้สำเร็จในอนาคต
๔.สามารถดำเนินการตามโครงการวิจัย และ/หรือดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นระบบตามที่เสนอเป็นระยะเวลาต่อเนื่องตั้งแต่ ๔ - ๑๒ เดือน
๕. สามารถดำเนินการตามโครงการวิจัยและ/หรือดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นระบบตามที่เสนอในประเทศที่เข้าร่วมโครงการอย่างมากที่สุด ๒ ประเทศ (นอกเหนือจากประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่ผู้สมัครพำนักอยู่อย่างถาวร)
ประเด็นในการดำเนินการวิจัย ปี ๒๔๔๖-๒๕๔๗
๑. บริบทด้านสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมกับอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การศึกษาความทรงจำด้านประวัติศาสตร์เพื่อก่อรูปอัตลักษณ์ในระดับภูมิภาคและระดับชาติ การสร้างวัฒนธรรมกระแสหลักและกระแสรอง บทบาทของสื่อและศิลปกรรม พลวัตของการสัมผัสวัฒนธรรมอันหลากหลาย บทบาทของประเด็นหญิงชาย บทบาทของศาสนา และบทบทของชนชั้น
๒. การไตร่ตรองพิจารณาในสภาวะความเป็นไปของมนุษย์และการแสวงหาความเป็นธรรมทางสังคม เช่น กระจายสิทธิทางการเมือง ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและกายภาพ การจัดการการเปลี่ยนแปลงในสังคม การทำให้ผู้ด้อยโอกาสไร้อำนาจยิ่งขึ้น ผลจากการกระทำของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม
๓. โครงการสร้างโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบันและทางเลือกที่เป็นไปได้ เช่น ผลกระทบต่อรัฐและสังคมจากการผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก การเคลื่อนย้ายทางมนุษย์และเงินตรา บทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของเส้นแบ่งพรมแดน นัยยะแห่งการพึ่งตนเอง วัฒนธรรมที่แพร่ไปทั่วโลกด้วยวิถีการตลาดภาคประชาสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์
ผู้สนใจสมัครขอรับทุน สามารถติดต่อได้ที่โครงการทุนปัญญาชนสาธารณะเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬา ฯ ชั้น ๓ อาคารประชาธิปก - รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. ๐-๒๒๑๘-๗๔๒๒ โทรสาร ๐-๒๒๖๕๒-๕๒๘๓ E-mail :
[email protected] ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๕--จบ--
-นห-