ขอเชิญร่วมงานสัมมนาระดับชาติ ทางเลือกของผู้หญิงที่ตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม

29 Jul 2002

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ไทยเอ็นจีโอ

ขอเชิญร่วมงานสัมมนาระดับชาติ ภาค 2 ตอน “ร่วมกันสร้างทางเลือกให้หลากหลาย” วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2545 ห้องกษัตริย์ศึก ชั้น 4 โรงแรมโซลทวิน ถนนพระราม 6 กรุงเทพมหานคร ร่วมจัดโดย กองวางแผนครอบครัวและประชากร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันกฎหมายอาญา สำนักอัยการสูงสุด สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ โครงการจัดตั้งมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และ สภาประชากร

กำหนดการสัมมนา

8.30 – 9.00 น. ลงทะเบียน

9.00 – 9.40 น. พิธีเปิดการสัมมนา กล่าวรายงาน โดย พญ.สุวรรณา วรคามิน กองวางแผนครอบครัวและประชากร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการสัมมนา โดย ฯพณฯ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

9.40 – 10.10 น. ปาฐกถาพิเศษ “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ซ้ำซากของการตั้งท้องไม่พร้อม” รศ.ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

10.10 – 10.30 น. พัก – เครื่องดื่มและอาหารว่าง

10.30 – 12.30 น. เวทีอภิปราย “ข้อมูลล่าสุดและนานาทัศนะต่อปัญหาการตั้งท้องไม่พร้อม” ข้อมูลล่าสุดของปรากฎการณ์ “ท้องไม่พร้อม” และการทำแท้ง คุณณัฐยา บุญภักดี และคุณดุสิตา พึ่งสำราญ โครงการรณรงค์เพื่อสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ สภาประชากร สิทธิสุขภาพของผู้หญิงตั้งท้องไม่พร้อมเป็นอย่างไร ศ.พญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิธ ประธานโครงการจัดตั้งมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) สังคมไทยเข้าใจปัญหาการตั้งท้องไม่พร้อมดีแค่ไหน รศ.ดร. นภาภรณ์ หะวานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

12.30 – 13.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน

13.30 – 15.00 น. กลุ่มย่อยที่ 1 : ล้างความเข้าใจผิดเรื่องการตั้งท้องไม่พร้อม นำสนทนาโดย คุณกนกวรรณ ธราวรรณ คนหลายคนที่ผ่านการเผชิญปัญหาตั้งท้องในช่วงจังหวะเวลาที่ไม่พร้อม หรือเผชิญกับการต้องตัดสินใจว่าจะทำแท้งหรือไม่ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือคนที่เรารัก เมื่อนั้นจึงรู้ว่าแท้จริงแล้วคนที่อยู่ในปัญหานี้ เขาคิด เขารู้สึกอย่างไร แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าใจเลย หรือมีแต่ความเข้าใจผิดมาโดยตลอด ขอเชิญท่านร่วมสนทนาระดมความคิดเพื่อค้นหาความเข้าใจผิดที่เราทุกคนมี และฝึกสมองประลองความคิดกันดูว่า เราจะช่วยกันแก้ไขความเข้าใจผิดเหล่านี้ได้ด้วยวิธีใดบ้าง คุณกนกวรรณจะเป็นผู้ช่วยนำกระบวนการพูดคุยไปสู่ข้อสรุปของกลุ่ม

กลุ่มย่อยที่ 2 : “เพศ” ศึกษาอย่างไรให้สร้างสรรค์ นำสนทนาโดย อาจารย์รุจน์ โกมลบุตร กระแสความคิดเห็นของสังคมในช่วงเวลาที่ผ่านมา ต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “เพศศึกษา” เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนในสังคม โดยเฉพาะเยาวชน แต่จะศึกษาเรื่อง “เพศ” อย่างไรให้สร้างสรรค์ ลดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ หรือแง่ร้ายๆ ของเรื่องเพศ เช่น การตั้งท้องไม่พร้อม การติดเชื้อต่างๆ เป็นเรื่องที่เราพูดถึงกันน้อยมาก ขอเชิญท่านที่ต้องการแสดงความคิดเห็นต่อรายละเอียด “ที่สำคัญ” เหล่านี้ มาร่วมกันจารึกความคิดสร้างสรรค์ของท่านไว้ นำการสนทนาโดยอาจารย์รุจน์ โกมลบุตร ซึ่งเกาะติดความก้าวหน้าของการทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มย่อยที่ 3 : บริการคุมกำเนิดกับช่องโหว่ที่ต้องรีบอุด นำสนทนาโดย คุณณัฐยา บุญภักดี กรณีของผู้หญิงที่ผ่านการทำแท้งหลายครั้งจนได้รับบัตรทองของคลินิก ทำให้เราต้องตั้งคำถามถึงบริการคุมกำเนิด และเมื่อพูดถึงปัญหาการตั้งท้องไม่พร้อม แทบจะทุกคนเป็นต้องถามถึงการคุมกำเนิดเช่นกัน แต่จะมีสักกี่คนที่ใส่ใจลงไปในทางปฏิบัติว่า มันมีอะไรหรือไม่ในบริการเกี่ยวกับการคุมกำเนิด อันเป็นเรื่องที่ยังขาดหายไป หรือเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุง และสิ่งเหล่านี้แหล่ะ คือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการตั้งท้องไม่พร้อมที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา ขอเชิญชวนท่าน มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ช่วยกันอุดช่องโหว่กันให้เรียบสนิท เพื่อประโยชน์ของสังคมเราต่อไป

กลุ่มย่อยที่ 4 : กฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์ต้องพูดถึงเรื่องอะไรบ้าง นำสนทนาโดย อาจารย์ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ การอภิปรายของอาจารย์หมอเพ็ญศรีในช่วงเช้า จะช่วยปูทางให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของคำว่า “สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์” และจะช่วยกระตุ้นต่อมความคิดต่อไปได้ว่า หากเราจะนำกฎหมายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการตั้งรับและรุกไล่ปัญหาสุขภาพผู้หญิง ประเด็นอะไรบ้างที่น่าจะรวมอยู่ในกฎหมายนี้ ประสบการณ์และความรู้ของผู้นำการสนทนาซึ่งเป็นนักกฎหมายที่เข้าใจเรื่อง “ผู้หญิง” จะช่วยนำทางกระบวนการคิด การถกเถียงในกลุ่มย่อยนี้ไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้น

15.00 – 15.20 น. พัก – เครื่องดื่มและอาหารว่าง

15.20 – 16.30 น. แบ่งปันข้อคิดความเห็นจากกลุ่มย่อยและสรุปการสัมมนา ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ปิดการสัมมนา--จบ--

-สส-