กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--สยามพีอาร์ คอนซัลแทนท์
บริษัท สยามกัลฟ์ปิโตรเคมีกัล จำกัด เผยโครงการสร้างโรงแยกคอนเดนเสทในจังหวัดเพชรบุรี มั่นใจเป็นโรงงานมาตรฐานสากลและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานภายใต้การบริหารของทีมงานมืออาชีพจากระยองเพียวฯ
นายศุภพงศ์ กฤษณกาญจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามกัลฟ์ปิโตรเคมีกัล จำกัด เปิดเผยถึงความเป็นมาของบริษัท สยามกัลฟ์ปิโตรเคมีคัล จำกัด ว่าเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่แปรสภาพคอนเดนเสทให้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่มีคุณภาพ โดยบริษัท สยามกัลฟ์ฯ ดำเนินการโครงการก่อสร้างโรงแยกคอนเดนเสทด้วยกระบวนการต้มแยก ซึ่งการต้มแยกเป็นกระบวนการแยกผลิตภัณฑ์ด้วยความร้อนในระดับต่างๆ โดยไม่มีการเติมสารเคมีใดๆ เข้าไปในระหว่างกระบวนการ
"โครงการก่อสร้างโรงแยกคอนเดนเสทจะก่อตั้งขึ้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีโดยมีกำลังการผลิต 35,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 700 ล้านบาท สำหรับวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในกระบวนการผลิตคือ คอนเดนเสทและน้ำมันดิบ โดยคอนเดนเสท ที่นำมาใช้นี้เป็นคอนเดนเสทที่ได้มาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย แหล่งพัฒนาร่วมไทยมาเลย์ (JDA) และประเทศออสเตรเลีย ส่วนน้ำมันดิบมาจากประเทศมาเลเซีย เพราะเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่มีปริมาณกำมะถันเจือปนในปริมาณต่ำ"
นายศุภพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงแยกคอนเดนเสทที่จังหวัดเพชรบุรีถอดแบบมาจากโรงแยกคอนเดนเสทของบริษัท ระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด ที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโรงงานที่ผ่านมการสำรวจโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นเครื่องยืนยันได้ว่ากระบวนการผลิตของโรงแยกคอนเดนเสทไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ในด้านความปลอดภัย โรงแยกคอนเดนเสทที่จะก่อสร้างนั้น เป็นโรงแยกคอนเดนเสทที่ออกแบบตามมาตรฐานสากล (NFPA) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยและป้องกันการระเบิดและเพลิงไหม้
อีกทั้งโรงแยกคอนเดนเสทของสยามกัลฟ์ฯ เป็นระบบปิด (Zero Discharge) คือไม่มีการปล่อยน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตและน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วออกนอกโรงงาน รวมทั้งคราบน้ำมันต่างๆ ที่อาจปะปนอยู่ในน้ำก็จะถูกนำกลับเข้าไปสู่กระบวนการผลิต ซึ่งกระบวนการผลิตของโรงแยกคอนเดนเสทต้นแบบที่จังหวัดระยอง มีค่าผลกระทบด้านน้ำและอากาศดีกว่ามาตรฐานที่ทางราชการกำหนดทั้งสิ้น อาทิ ปริมาณของแข็งละลายน้ำที่มาตรฐานทางราชการกำหนดให้มีได้ไม่เกิน 3,000 mg/I วัดที่โรงงานได้ 252 mg/I ดีกว่ามาตรฐาน 10 เท่า หรือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ทางราชการกำหนดให้มีได้ไม่เกิน 1,250 ppm วัดได้จริง 71 ppm ดีกว่ามาตรฐาน 19 เท่า
บริษัทฯ ได้เพิ่มความมั่นใจให้กับชุมชน ด้วยการเปิดให้ตัวแทนชุมชนเข้าเยี่ยมโรงงาน เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเห็นถึงโรงแยกคอนเดนเสทด้วยตนเอง รวมถึงบริษัทฯ ได้จัดทำกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ ได้แก่ การขุดลอกคูคลอง การทำถนนหน้าโครงการ การส่งเสริมอาชีพเสริม และการแข่งขัน ฟุตบอลเยาวชน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีแก่ชุมชน
โครงการโรงแยกคอนเดนเสทของบริษัทฯ จัดเป็นแหล่งสำรองพลังงานเพิ่มเติมให้กับประเทศตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดชนิดและอัตราน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องสำรอง ซึ่งผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 จะต้องสำรองวัตถุดิบจำนวน 5% ของยอดนำเข้าต่อปี และผู้ค้ามาตรา 7 จะต้องสำรองผลิตภัณฑ์จำนวน 5% ของยอดค้าต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นการลดการนำเข้าแนฟทา ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ถึงปีละ 600,000 ตัน เป็นมูลค่าประมาณ 7,200 ล้านบาท สร้างรายได้ขึ้นในประเทศ 15,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ด้านภาษีให้รัฐเช่นเดียวกับบริษัท ระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด ประมาณ 200 ล้านบาทอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิต ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, แนฟทาเบา, แนฟทาหนัก, น้ำมันก๊าด, น้ำมันดีเซล, น้ำมันเตาและคอนเดนเสทเรสิดิว
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ศุภาดา ใจดี, เหมือนฝัน นิลคูหา
บริษัท สยามพีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด
โทร.0-2693-7835-8 หรือ 0-2276-8432-3 ต่อ 33, 35--จบ--
-นห-